วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและผลกระทบทางสังคมที่มีต่อประชากรในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการดำเนินการตามโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ


ชื่อรายงานการวิจัย : การศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและผลกระทบทางสังคมที่มีต่อ
ประชากรในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการดำเนินการตามโครงการ
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
ผู้วิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบูรณ์ บุญฤทธิ์ นายสุชาติ ปิยะกาญจน์
ส่วนงาน : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช
ปีงบประมาณ : ๒๕๔๗
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและผลกระทบทางสังคมที่มีต่อประชากรในจังหวัดนครศรีธรรมราชจากการดำเนินการตามโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ
๑. เพื่อศึกษารูปแบบในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ในด้านวิธีการจัดตั้งกองทุน และด้านการบริหารจัดการกองทุน
๒. เพื่อศึกษาผลกระทบที่มีต่อประชากรในจังหวัดนครศรีธรรมราช อันเกิดจากการดำเนินการตามโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ในด้านสังคม ด้านคุณธรรม และด้านเศรษฐกิจและอาชีพ
๓. เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะ ในการดำเนินการตามโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในจังหวัดนครศรีธรรมราช

วิธีดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยสร้างแบบสัมภาษณ์และแบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย โดยมีประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน ๒๑๘ ตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนในหมู่บ้านที่มีการดำเนินการตามโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๓๒๗ ตัวอย่าง รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจำนวน ๕๔๕ ตัวอย่าง การเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยใช้วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนามโดยให้ผู้ช่วยนักวิจัยจำนวน ๕ คน เก็บข้อมูลในพื้นที่ที่กำหนด

การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยใช้สถิติพื้นฐานในการวิเคราะห์ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ ใช้รูปแบบในการบริหารจัดการกองทุนตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในคู่มือ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ มีภาพรวมของระดับในการบริหารจัดการกองทุนอยู่ในระดับมาก

๒. ผลกระทบทางสังคมที่มีต่อประชากรในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการดำเนินการตามโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พบว่ามีผลกระทบทางสังคม ดังนี้

๒.๑ ผลกระทบด้านสังคม พบว่า มีภาพรวมของผลกระทบต่อประชากรอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีผลกระทบในด้านบวก คือ มีส่วนทำให้เกิดภาวะผู้นำในชุมชน มีส่วนทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และมีส่วนทำให้ประชาชนได้มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ส่วนผลกระทบในด้านลบ คือ มีส่วนทำให้ประชาชนมีภาระในการหาเงินใช้หนี้มากขึ้น มีส่วนทำให้ประชาชนมีการรอคอยโครงการช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐบาลมากขึ้น และมีส่วนทำให้นักการเมืองระดับประเทศมีโอกาสสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเองและพรรคมากขึ้น

๒.๒ ผลกระทบด้านคุณธรรม พบว่า มีภาพรวมของผลกระทบต่อประชากร อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีผลกระทบในด้านบวก คือ มีส่วนทำให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อชุมชนมากขึ้น มีส่วนทำให้ประชาชนมีสัจจะมากขึ้น และมีส่วนทำให้ประชาชนมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและสังคมมากขึ้น ส่วนผลกระทบในด้านลบ คือ มีส่วนทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากขึ้น มีส่วนทำให้ประชาชนขาดวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น และมีส่วนทำให้ประชาชนมีการทะเลาะเบาะแว้งกันมากขึ้น

๒.๓ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและอาชีพ พบว่า มีภาพรวมของผลกระทบต่อประชากรอยู่ในระดับปานกลางโดยมีผลกระทบในด้านบวกคือ มีส่วนทำให้ประชาชนมีช่องทางในการประกอบอาชีพมากขึ้น มีส่วนทำให้ประชาชนมีความคล่องตัวในการประกอบอาชีพมากขึ้น และมีส่วนทำให้ประชาชนมีงานทำเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบในด้านลบ คือ มีส่วนทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมากขึ้น มีส่วนทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น และมีส่วนทำให้ประชาชนต้องทำงานหนักมากขึ้น

๓. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ พบว่า มีปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองขาดความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการที่เป็นระบบการจัดทำและการตรวจสอบบัญชี ไม่มีสถานที่ทำการกองทุนที่เป็นศูนย์กลางและเป็นเอกเทศ และขาดการให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ประชาชนไม่เข้าใจหลักการและวัตถุประสงค์ของโครงการ ขาดความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้แก่กองทุน ไม่นำเงินกู้ไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และชุมชนขาดความพร้อมในการดำเนินการตามโครงการ ส่วนข้อเสนอแนะในการดำเนินการ คือ ควรมีการอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ ที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต้องการ ควรจัดหาสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินการให้เพียงพอ ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ควรมีการจัดอบรมอาชีพเสริมแก่ประชาชน รัฐควรเข้ามาส่งเสริมอาชีพและหาตลาดรองรับผลผลิตที่เกิดจากการนำเงินกู้จากกองทุนไปดำเนินการ รัฐควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มหรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อการผลิต ควรมีการเตรียมความพร้อมของชุมชนก่อนการจัดสรรเงินกองทุนให้ ควรมีการระดมทุนเพิ่มจากสมาชิกโดยนำหลักการของกองทุนสัจจะออมทรัพย์มาใช้ ควรมีการกระจายเงินกองทุนให้ทั่วถึง และควรมีมาตรการในการลงโทษผู้ที่ผิดสัญญาชำระคืนเงินกู้แก่กองทุนและไม่นำเงินกู้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น