วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาบทบาทและศักยภาพขององค์กรทางพุทธศาสนากับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองและการพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาบทบาทและศักยภาพขององค์กรทางพุทธศาสนากับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองและการพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา
ผู้วิจัย: นายแสงวาท วงศ์ใหญ่ และคณะ
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา
ปีงบประมาณ: ๒๕๔๖
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัย เรื่องการศึกษาบทบาทและศักยภาพขององค์กรทางพุทธศาสนากับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองและการพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทและศักยภาพขององค์กรทางพุทธศาสนากับการส่งเสริมระบบ เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองและการพัฒนาชุมชนในจังหวัดพะเยา ในด้านต่าง ๆ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP MODEL) กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย เจ้าอาวาส จำนวน ๗๕ รูป กรรมการวัด/กรรมการกองทุน จำนวน ๗๕ คน ประชาชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของวัด จำนวน ๗๕ คน

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็น ชนิด ๕ ระดับ ตามแบบของ ลิเคิร์ท (Likert) แบบสัมภาษณ์ ตามประเด็นที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาทำการวิเคราะห์โดยใช้การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในเชิงปริมาณและการใช้การวิเคราะห์เนื้อหาสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า

๑. ในภาพรวมองค์กรพุทธศาสนา มีบทบาทและศักยภาพในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองและพัฒนาชุมชนในจังหวัดพะเยา โดยให้ความร่วมมือกับทางชุมชนในการส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการศึกษาเป็นอย่างดี
๒. ด้านสภาวะแวดล้อมของวัดหรือองค์กรพุทธศาสนา ได้มีการก่อตั้งมาเป็นเวลานาน มีการคมนาคมสะดวก ในการติดต่อกับชุมชน และมีครัวเรือนในเขตปกครองของวัดเป็นจำนวนมาก
๓. ด้านปัจจัยนำเข้าพบว่า องค์กรพุทธศาสนาได้มีบทบาทในการอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ด้วยการจัดตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน โดยมีการจัดงบประมาณกองทุนมาจากสมาชิกเอง
๔. ด้านกระบวนการดำเนินงานองค์กรพุทธศาสนาในจังหวัดพะเยา ได้ส่งเสริมการศึกษา เช่น การเทศน์มหาชาติ การสอนปฏิบัติธรรม เพื่ออบรมจิตใจ หรือการพัฒนาความรู้ทางด้านอาชีพมีการแนะนำวิทยากร จากสาขาวิชาการต่าง ๆ มาแนะนำอาชีพให้ชาวบ้าน เป็นศูนย์ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ในเรื่องกองทุนออมทรัพย์ มีการบริหารงานโดยคณะกรรมการกองทุนที่ตั้งขึ้น มีการตรวจสอบการทำงานของคณะทำงานมีการเรียกประชุมสมาชิกประจำ การดำเนินงานของระบบกองทุนเป็นไปอย่างราบรื่น
๕. ด้านผลผลิต ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามในภาพรวม มีความพึ่งพอใจในระดับ ปานกลาง ส่วนมากมีความเห็นว่า วัดเป็นสถานที่พบที่ประชุมในการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ในส่วนของกองทุนออมทรัพย์ ผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่า ประสบผลสำเร็จปานกลาง และยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะกองทุนมีประโยชน์ต่อสมาชิก
๖. ด้านผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรพุทธศาสนา ทำให้ชุมชนที่อยู่ติดกับวัดที่มีความเก่าแก่ทางศิลปะ วัฒนธรรม มีความเป็นอยู่หรือเศรษฐกิจดีขึ้น จากการรองรับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนผู้ที่ติดยาเสพติดในเขตจังหวัดพะเยา สามารถมีสถานที่บำบัดยาทางกายและทางจิต โดยไปบำบัดในวัดที่มีการให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เพื่อเป็นโอสถรักษาทั้งกายและใจของผู้ติดยาเสพติด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น