วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาพฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชนที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาในการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนา


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาพฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชนที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาในการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนา
ผู้วิจัย: รองศาสตราจารย์ บำรุง สุขพรรณ์, ดร.บัว พลรัมย์
ส่วนงาน: คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชนที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญา ในการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนา” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารของประชาชนที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญา ในการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนาจากสื่อ แนวคิดและกระบวนทัศน์ของประชาชนในการส่งเสริมภูมิปัญญาและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของประชาชน เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญา ในการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนา
การวิเคราะห์ข้อมูลให้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) ได้แก่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) ในการทดสอบสมมติฐานการวิจัย ได้แก่ค่า t-test One Way Anova และค่าไคสแควร์

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีการศึกษาระดับประถม อาชีพรับจ้างทั่วไป และมีรายได้ต่อเดือน 5,001-10,000 บาท
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ มีรากฐานมาจากคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง” พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าการบริโภคสินค้าและบริการฯ ไม่ควรบริโภคจนเกิดกิเลส และเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วยเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเอง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง” ในระดับมาก
พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับ การพึ่งพาตนเองฯ จากสื่อบุคคล สื่อเฉพาะกิจ สื่อกิจกรรมและสื่อมวลชน พบว่า ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ จากสื่อมวลชน และเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ในระดับปานกลาง
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ ส่วนใหญ่มีส่วนร่วมโดยช่วยส่งเสริมการให้เกิดธุรกิจชุมชนครบวงจร และเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ส่วนใหญ่มีส่วนร่วมระดับปานกลาง

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่อยู่จังหวัด เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือนกับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ จากสื่อบุคคล สื่อเฉพาะกิจ สื่อกิจกรรม และสื่อมวลชน ดังนี้
กลุ่มตัวอย่างที่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ เป็นประจำจากสื่อบุคคล ส่วนใหญ่อยู่จังหวัดชลบุรี มีการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป สื่อเฉพาะกิจ ส่วนใหญ่อยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ต่อเดือน 10,000 บาท และ สื่อกิจกรรม สื่อมวลรวม ส่วนใหญ่อยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป อาชีพค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว รายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่อยู่จังหวัด เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือนกับความคิดเห็นเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ พบว่า
กลุ่มตัวอย่างที่อยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่อยู่จังหวัดชลบุรี, เพศชายมีความเห็นมากกว่าเพศหญิง การศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอนุปริญญาขึ้นไป มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาไม่เกินประถมศึกษา อาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพนักเรียน/นักศึกษา/แม่บ้าน/อื่น ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่อยู่จังหวัด เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือนกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรม เกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ พบว่า
กลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานบริษัท/ธนาคาร และมากกว่าอาชีพรับจ้างทั่วไป และมากกว่าอาชีพนักเรียน/นักศึกษา/แม่บ้าน/อื่น ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ จากสื่อบุคคล สื่อเฉพาะกิจ, สื่อกิจกรรม, และสื่อมวลชน กับความคิดเห็นเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ พบว่า
กลุ่มตัวอย่างที่เปิดรับข่าวสารฯ เป็นประจำ สื่อเฉพาะกิจ จะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เปิดรับข่าวสารฯ นาน ๆ ครั้ง สื่อกิจกรรม จะมีความคิดเห็น มากกว่าไม่เคยเปิดรับข่าวสารฯ และมากกว่าเปิดรับข่าวสารฯ เป็นประจำ

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ จากสื่อบุคคล สื่อเฉพาะกิจ, สื่อกิจกรรม และสื่อมวลชน กับการมีส่วนร่วมในกิจกรรม เกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ พบว่า
สื่อบุคคล กลุ่มตัวอย่างที่เปิดรับข่าวสารฯ นาน ๆ ครั้ง และเปิดรับข่าวสารฯ เป็นประจำ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยเปิดรับ
สื่อเฉพาะกิจ สื่อกิจกรรมและสื่อมวลชน กลุ่มตัวอย่างที่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ จากสื่อเฉพาะกิจเป็นประจำ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองฯ มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยเปิดรับข่าวสาร และเปิดรับข่าวสาร นาน ๆ ครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น