วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศึกษาแนวทางการแนะแนวการศึกษานิสิตปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


ชื่อรายงานการวิจัย : ศึกษาแนวทางการแนะแนวการศึกษานิสิตปีที่ 2
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ผู้วิจัย : ดร.อินถา ศิริวรรณ
นายบุญเลิศ จีรภัทร์
พระมหาสหัส ฐิตสาโร
ดร. สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย
ส่วนงาน : คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ : 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การศึกษาแนวทางการแนะแนวการศึกษานิสิตปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นการศึกษาวิจัยทางด้านเอกสารเพื่อจัดทำเครื่องมือและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึก การสร้างเครื่องมือแบบสอบถามในการจัดเก็บข้อมูลจาก นิสิต และอาจารย์เจ้าหน้าที่ ในส่วนของข้อมูลพื้นฐานทั่วไป และข้อมูลความคิดเห็น ความต้องการแนะแนวการศึกษาของนิสิตอันเป็นปัจจัยตาม และปัจจัยอิสระการจัดการแนะแนว หรือปัจจัยผันแปร ประกอบด้วย หน่วยงาน และบุคลากรด้านการแนะแนว ระบบการบริหารการแนะแนว ระบบสารสนเทศ และเครื่องมือเสริมในการแนะแนว และความรับผิดชอบและสำนึกในการแนะแนว ใช้จัดเก็บข้อมูลจากนิสิต อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของทั้งสี่คณะจากส่วนกลาง เป็นนิสิต 254 รูป/คน อาจารย์และเจ้าหน้าที่ 83 รูป/คน

ผลการวิจัยพบว่า ความต้องการแนะแนวการศึกษาของนิสิตอยู่ในระดับน้อย และอาจารย์และเจ้าหน้าที่เห็นว่านิสิตมีความต้องการมาใช้บริการแนะแนวในระดับปานกลาง โดยนิสิตหญิงมีความพอใจหรือได้รับบริการสูงกว่ากลุ่มอื่น นิสิตที่มีอายุมากกว่า 30 ปี และมีตำแหน่งในวัดและคณะสงฆ์ได้รับบริการสูงกว่าหรือมีความพอใจมากกว่ากลุ่มอื่น และนิสิตในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความต้องการใช้บริการแนะแนวมากกว่าภาคอื่น และการจัดการแนะแนวที่ให้บริการแก่นิสิตทำให้ความต้องการในการแนะแนวของนิสิตอยู่ในระดับน้อย เนื่องจากความไม่ทัดเทียมในการบริการ คือ เพศหญิงได้รับบริการดีกว่าหรือพอใจมากกว่า ผู้มีอายุสูงกว่า 30 และมีตำแหน่งทางวัดและคณะสงฆ์ จะได้รับบริการดีกว่าหรือมีความพอใจสูงกว่า แต่ทั้งนิสิตและอาจารย์และเจ้าหน้าที่มีความเห็นต่อการจัดการแนะแนวในระดับปานกลาง

การจัดการแนะแนวอยู่ในระดับปานกลาง และไม่เสมอภาคจึงควรจัดการแนะแนวทางการศึกษาที่เสมอภาคในทุกเพศ ทุกวัย หรือให้บริการที่ดี ที่ประทับใจแก่ทุกเพศทุกวัย ปรับปรุงการบริหารการแนะแนวให้มีความหลากหลาย มีความต่อเนื่อง และสนองความต้องการของนิสิตให้ตรงจุด และตรงกับความต้องการ การให้บริการจะต้องมีการให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคณะต่าง ๆ และฝ่ายงานต่าง ๆ มีส่วนในการให้บริการแนะแนวมากขึ้น เพื่อให้การบริการมีความสะดวก และสนองความต้องการของนิสิตได้มากขึ้น สร้างความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น และจิตสำนึกในการพัฒนาตนเองของนิสิตมากขึ้น รวมทั้งการจัดระบบสารสนเทศที่ดีมีจำนวนข้อมูลตามที่นิสิตต้องการสามารถนำมาช่วยในการทำให้การบริการแนะแนวดีขึ้น และเครื่องมือเสริมในการแนะแนวทั้งจำนวน คุณภาพและบริการที่ดี เพื่อให้นิสิตสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาตนเอง แก้ปัญหาตนเอง และพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น