ชื่อรายงานวิจัย: การศึกษาภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาตามการรับรู้ของพุทธศาสนิกชน ในจังหวัดนครราชสีมา
ผู้วิจัย: ผศ. สมบูรณ์ ตันยะ พระครูสังฆรักษ์สมจิต พุทฺธวิริโย พระมหาคำภีร์ ภูริสีโล ผศ. เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ ผศ. ประมวล ตันยะ นายอานุภาพ ธงภักดี
หน่วยงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของสถาบัน พระพุทธศาสนาตามการรับรู้ของพุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา ในด้านศาสนบุคคล (พระภิกษุสามเณร) ศาสนสถาน (วัด) ศาสนพิธี (พิธีกรรม) และศาสนธรรม (คำสั่งสอน) และเพื่อเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาตามการรับรู้ของพุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา ตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา ภูมิลำเนา และการเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ พุทธศาสนิกชนที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ.2547 ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จำนวน 1,943 คน แยกเป็นประชาชนทั่วไป 995 คน และนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป 948 คน คิดเป็นร้อยละ 97.15 ของกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้การสุ่มแบบหลายขั้นตอนให้ครอบคลุมพื้นที่และตัวแปรที่ศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่าชนิด 5 ระดับ ที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง จำนวน 34 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และ F-test
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมามีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมาอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยมีการรับรู้ด้านศาสนธรรม สูงที่สุด ส่วนด้านที่มีการรับรู้ต่ำที่สุด คือ ด้านศาสนบุคคล เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน พบว่า ด้านศาสนบุคคล ข้อที่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปรับรู้สูงที่สุด คือ เป็นผู้ควรแก่การเคารพ กราบไหว้ ด้านศาสนสถาน ข้อที่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปรับรู้สูงที่สุด คือ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ด้านศาสนพิธี ข้อที่นักเรียนนักศึกษารับรู้สูงที่สุดคือ เป็นพิธีที่ น่าเชื่อถือ น่าศรัทธา น่าเลื่อมใส ส่วนข้อที่ประชาชนทั่วไปมีการรับรู้สูงสุดคือ เป็นพิธีที่แสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้านศาสนธรรม ข้อที่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปรับรู้สูงที่สุดคือทำให้จิตใจสงบผ่องใส
2. ประชาชนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดนครราชสีมามีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาด้านศาสนธรรมแตกต่างกัน
3. ผลการเปรียบเทียบการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนา ของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมาตามตัวแปรต่าง ๆ ได้ผลดังนี้
3.1 นักเรียนนักศึกษาที่มีเพศต่างกันมีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนา แตกต่างกันทุกด้าน
3.2 นักเรียนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาและระดับการศึกษาต่างกันมีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาด้านศาสนบุคคลแตกต่างกัน
3.3 นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการตักบาตร/ถวายอาหารพระสงฆ์ การบริจาคเงินและสิ่งของให้วัด และการเข้าร่วมกิจกรรมของวัด ต่างกัน มีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาทุกด้านแตกต่างกัน
3.4 นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการสวดมนต์ไหว้พระต่างกัน มีการรับรู้ ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน จำนวน 2 ด้าน คือ ด้านศาสนบุคคล และด้าน ศาสนสถาน
3.5 นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการฟังเทศน์ต่างกัน มีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาแตกต่างกันจำนวน 3 ด้าน คือ ด้านศาสนบุคคล ด้านศาสนพิธี และด้าน ศาสนธรรม
3.6 นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการปฎิบัติธรรมต่างกัน มีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน จำนวน 2 ด้าน คือ ด้านศาสนบุคคล และด้านศาสนพิธี
4. ผลการเปรียบเทียบการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาของประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมาตามตัวแปรต่าง ๆ ได้ผลดังนี้
4.1 ประชาชนทั่วไปที่มีเพศต่างกัน มีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน จำนวน 3 ด้าน คือ ด้านศาสนบุคคล ด้านศาสนสถานและด้าน ศาสนพิธี
4.2 ประชาชนทั่วไปที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล มีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาแตกต่างกันจำนวน 3 ด้าน คือ ด้านศาสนบุคคล ด้าน ศาสนสถาน และด้านศาสนธรรม
4.3 ประชาชนทั่วไปที่มีอายุต่างกัน มีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนา แตกต่างกัน จำนวน 3 ด้าน คือ ด้านศาสนบุคคล ด้านศาสนพิธี และด้านศาสนธรรม
4.4 ประชาชนทั่วไปที่มีระดับการศึกษาต่างกัน และที่เข้าร่วมกิจกรรมการตักบาตร/ถวายอาหารพระสงฆ์ การสวดมนต์ไหว้พระ การฟังเทศน์ การปฏิบัติธรรม การบริจาคเงินและสิ่งของให้วัด การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้องค์กรการกุศลหรือบุคคลที่เดือดร้อน และเข้าร่วมกิจกรรมของวัด ต่างกัน มีการรับรู้ภาพลักษณ์ของสถาบันพระพุทธศาสนาแตกต่างกันทุกด้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น