วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษารูปแบบการจัดระเบียบสังคมตามแนวพุทธศาสตร์


ชื่อรายงานการวิจัย : การศึกษารูปแบบการจัดระเบียบสังคมตามแนวพุทธศาสตร์
ผู้วิจัย : นายทวีศักดิ์ ทองทิพย์ และคณะ
ส่วนงาน : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์
ปีงบประมาณ : 2546
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาแนวคิดและเสนอแนะรูปแบบการจัดระเบียบสังคมตามแนวพุทธศาสตร์ โดยใช้วิธีวิจัยเอกสารและสัมภาษณ์กลุ่มพระสงฆ์และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการทางพุทธศาสนา การเก็บรวบรวมข้อมูลของการวิจัยนี้ได้มาจากการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์กลุ่มพระสงฆ์จำนวน 8 รูป ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการทางพุทธศาสนาจำนวน 8 คน ผลการวิจัยพบว่า

1. แนวคิดการจัดระเบียบสังคมตามแนวพุทธศาสตร์ ในพระวินัยและในบริบทของพระ วินัยพบว่า มีแนวคิดการจัดระเบียบสังคมที่ชัดเจนคือ สังคมสงฆ์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากขนบธรรมเนียมของนักบวชที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล และมีโอวาทปาติโมกข์เป็นกรอบในการจัดระเบียบสังคม พระพุทธเจ้าจึงจัดระเบียบสังคมสงฆ์โดยใช้วินัยเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคมเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนสังคมทั่วไปที่อยู่รอบนอกสังคมสงฆ์ หากจะจัดว่าเป็นสังคมพุทธอย่างน้อยต้องมีศีล 5 เป็นแกนหลักในการปฏิบัติ ส่วนในพระสูตรและบริบทของพระสูตรพบแนวคิดการจัดระเบียบสังคมที่ชัดเจนในพระสูตรต่าง ๆ ดังนี้ ในอัคคัญญสูตร พบแนวคิดการจัดระเบียบสังคม โดยกล่าวถึงสังคมแบบวรรณะที่มีโครงสร้างหน้าที่ของกลุ่มคนต่าง ๆ ที่จะปฏิบัติต่อกัน สังคมวรรณะเป็นสังคมที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้วพระพุทธเจ้าเพียงแต่อธิบายให้เห็นว่าสังคมเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แนวคิดการจัดระเบียบสังคมในพระสูตรนี้ถือว่ามนุษย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของคนในสังคม และใช้คุณธรรมเรื่องกุศลกรรมบถ 10 ประการเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม ในจักกวัตติสูตรพบแนวคิดการจัดระเบียบสังคม โดยกล่าวถึงสังคมแบบเศรษฐกิจเชิงจริยธรรมเน้นโครงสร้างทางการปกครอง โดยถือธรรมะเป็นใหญ่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย ในสิงคาลกสูตรพบแนวคิดการจัดระเบียบสังคมโดยกล่าวถึงสังคมแบบโครงสร้างหน้าที่เน้นการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลกลุ่ม ต่าง ๆ ตามหลักทิศ 6 และการจัดระเบียบภายในตัวบุคคลได้แก่การเว้นจากบาปกรรม 14 ประการ

2. รูปแบบการจัดระเบียบสังคมตามแนวพุทธศาสตร์ ในพระวินัยและบริบทของพระวินัยพบว่า มีรูปแบบการจัดระเบียบสังคมสงฆ์สำเร็จรูปไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีวินัยเป็นโครงสร้าง การจัดระเบียบภายนอกด้านกายภาพ และมีโอวาทปาติโมกข์เป็นโครงสร้างการจัดระเบียบภายในตัวปัจเจกบุคคล ในพระสูตรและบริบทของพระสูตร พบว่า มีหลักคำสอนในพุทธศาสนาเสนอแนะให้มีการจัดระเบียบสังคม โดยกำหนดบทบาทของผู้นำ หน้าที่ของบุคคลตามสถานภาพ หลักของศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10 เป็นรูปแบบในการจัดระเบียบสังคม

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการจัดระเบียบสังคมตามแนวพุทธศาสตร์ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของศีลและธรรม ศีลเป็นการจัดระเบียบโครงสร้างสังคมด้านกายภาพ ส่วนธรรมเป็นการจัดระเบียบภายในปัจเจกบุคคล ทั้งสองส่วนนี้ต้องจัดควบคู่กันไป วิธีจัดระเบียบสังคมดังกล่าวนี้ เป็นระบบวิถีชีวิตแบบพุทธ เน้นให้บุคคลในสังคมมีปัญญา มีความเห็นถูก มีความคิดเป็นระบบถูกต้อง มีระเบียบวินัย พูดถูก ทำถูก เลี้ยงชีวิตถูก มีความเพียรพยายามถูก มีสติไม่ประมาทมัวเมา มีจิตเป็นสมาธิสงบเยือกเย็น รูปแบบการจัดระเบียบสังคมดังกล่าวนี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ดังนั้น รูปแบบการจัดระเบียบสังคมตามแนวพุทธศาสตร์ จึงควรจัดระเบียบสังคมแบบมัชฌิมาปฏิปทา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น