ชื่อรายงานการวิจัย : แนวโน้มของจำนวนพระภิกษุสามเณรในทศวรรษหน้าของสังคมไทย
ผู้วิจัย : พระมหาสหัส ฐิตสาโร พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิติญาโณ ดร.อินถา ศิริวรรณ นายเสนาะ ผดุงฉัตร นายบุญเลิศ จีรภัทร์
ส่วนงาน : คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ : 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทคัดย่อ
การวิจัยแนวโน้มจำนวนพระภิกษุสามเณรของประเทศไทยในทศวรรษหน้า เป็นการศึกษาวิจัยทางด้านเอกสารเพื่อจัดทำเครื่องมือและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึก สร้างเครื่องมือแบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากประชาชน และพระภิกษุสามเณรทั้งข้อมูลพื้นฐานทั่วไป และข้อมูลความคิดเห็น แนวโน้มจำนวนพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็น ปัจจัยตาม และปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนพระภิกษุสามเณรหรือตัวแปรอิสระอันเป็นปัจจัยผันแปร ซึ่งประกอบด้วย ค่านิยมต่อการบวชเรียน (ปัจจัยที่1) ภาวะเศรษฐกิจต่อการบวช (ปัจจัยที่ 2) การประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน (ปัจจัยที่3) ศรัทธาประชาชนต่อพระพุทธศาสนาและการบวช(ปัจจัยที่ 4) และการศึกษาของรัฐและของคณะสงฆ์ต่อพระพุทธศาสนาและการบวช (ปัจจัยที่5) ใช้จัดเก็บข้อมูลจากประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ในภาคต่าง ๆ และกรุงเทพ-ปริมณฑล ผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ประชาชน 219 คน พระภิกษุสามเณร 57 รูป รวมทั้งสิ้น 376 รูป/คน
พบว่า แนวโน้มจำนวนพระภิกษุสามเณรลดลง ทั้งในความเห็นของประชาชนและพระภิกษุสามเณร แต่ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนพระภิกษุสามเณรอยู่ในระดับมากและปานกลาง แสดงว่าการบวชเรียนเป็นการบวชนอกพรรษาหรือการบวชระยะสั้นตามค่านิยมการบวชและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา อีกทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ การศึกษาของรัฐและคณะสงฆ์ต่อพระพุทธศาสนาและการบวช และการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนอยู่ในระดับมากและปานกลาง ซึ่งยังเป็นทัศนะที่ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ โดยผู้หญิงมีศรัทธาและค่านิยมต่อพระพุทธศาสนาและการบวชสูงกว่าผู้ชาย และต้องการให้บวชในพรรษามากกว่าผู้ชาย และเห็นความสำคัญของการศึกษาทั้งของรัฐและของคณะสงฆ์ว่ามีผลดีต่อพระพุทธศาสนาและการบวช ประชาชนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า ให้ความสำคัญของการบวชในพรรษามากกว่าผู้จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ประชาชนผู้มีภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีค่านิยมต่อการบวชและศรัทธาในพระพุทธศาสนามากกว่าภาคอื่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการบวชในพรรษามากกว่าภาคอื่น ครูเป็นอาชีพที่เห็นว่าแนวโน้มจำนวนพระภิกษุสามเณรสูงกว่าอาชีพอื่น แสดงถึงความต้องการบวชในพรรษามากกว่าอาชีพอื่น พระภิกษุสามเณรที่มีอายุช่วง 20-40 ปี มีความเห็นว่าศรัทธาประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาและการบวชสูงกว่าช่วงอายุอื่น
การที่ประชาชนมีค่านิยมและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาก และปัจจัยทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการประพฤติของพุทธศาสนิกชนมีผลต่อการบวชและพระพุทธศาสนาดีอยู่ จึงควรนำปัจจัยที่มีต่อพระพุทธศาสนาและการบวช ที่เป็นการบวชนอกพรรษา หรือการบวชระยะสั้น ด้วยการปรับเปลี่ยนค่านิยมการบวช ให้เห็นคุณค่าของการบวชในพรรษา โดยการจัดการเรียนรู้ทั้งปริยัติและปฏิบัติของผู้ที่บวชเรียน ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา ได้ฝึกปฏิบัติและการอบรมมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันและประยุกต์ใช้ในการทำงาน เป็นคนที่สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แนวโน้มจำนวนพระภิกษุสามเณรในทศวรรษหน้าเพิ่มขึ้น
นโยบายร่วมของรัฐ เอกชน และคณะสงฆ์ในการพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษา การอบรมพัฒนาพระภิกษุสามเณร การส่งเสริมความประพฤติของพระภิกษุสามเณร และการรณรงค์การนำหลักธรรมมาใช้และดำเนินชีวิตให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเป็นการกระตุ้นปัจจัยด้านความศรัทธา ค่านิยม และความประพฤติของพุทธศาสนิกชนที่ดีงามให้มีความสำคัญ และมีแรงกระตุ้นต่อแนวโน้มจำนวนพระภิกษุสามเณรให้มีจำนวนมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น