วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาและการวิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในคัมภีร์ใบลานล้านนา


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาและการวิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในคัมภีร์ใบลานล้านนา
ผู้วิจัย: นายแสงวาท วงค์ใหญ่ และคณะ
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา
ปีงบประมาณ: ๒๕๔๗
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

ความมุ่งหมายของการวิจัย เพื่อศึกษาภูมิปัญญาของนักปราชญ์ล้านนาในยุคก่อน ศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อ และทัศนคติของท้องถิ่นล้านนาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศิลปวัฒนธรรม วิธีการดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ มีขั้นตอนดังนี้ ศึกษาเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์ใบลานทั้ง ๒๐ หมวด รวบรวมข้อมูลด้านเอกสาร สำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่น ศึกษากลุ่ม/หมวดคัมภีร์ใบลานในจังหวัดพะเยา เชียงราย และลำปาง สร้างเครื่องมือ แบบสำรวจข้อมูลคัมภีร์ใบลาน ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ออกเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสำรวจข้อมูลคัมภีร์ใบลาน ศึกษาวิเคราะห์เชิงปริวรรตคัมภีร์ใบลานจากภาษาพื้นเมืองล้านนา เป็นภาษาไทยกลาง และทำการวิเคราะห์สรุปข้อมูลในคัมภีร์ใบลาน

สรุปผลการศึกษาและสำรวจข้อมูลพบว่า คัมภีร์ใบลานที่นำมาศึกษาส่วนใหญ่ ได้มาจากจังหวัดพะเยา รองลงมาจากจังหวัดเชียงรายและลำปาง ตามลำดับ ประกอบด้วยเรื่องใน หมวด ๐๖ อานิสงส์ ๐๘ โอวาทคำสอน หมวด ๑๐ ธรรมทั่วไป และหมวด ๑๑ นิยายธรรม ลักษณะอักษรและภาษาที่ใช้ เป็นอักษรและภาษาไทยยวน ทั้งหมด เอกสารส่วนใหญ่ เป็นใบลาน และรองลงมาเป็นปัปสา/สมุดข่อย และหนังสือ

ในภาพรวมจากการศึกษาและวิเคราะห์คัมภีร์ใบลานล้านนา พบว่า คัมภีร์ใบลานมีอิทธิพล ต่อชาวล้านนาไทย ในด้านความเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่สืบทอดจากบรรพบุรุษ รุ่นต่อรุ่น โดยยึดถือคำสั่งสอนที่มาจากคัมภีร์ใบลาน โดยเฉพาะความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะสอนให้คนยึดมั่น ทำความดี ละความชั่ว ความเชื่อเรื่องอานิสงส์ ความเชื่อทางโหราศาสตร์ หรือไสยศาสตร์ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดทั้งคัมภีร์ใบลานยังเป็นสื่อที่สืบทอดทางวัฒนธรรม และประเพณีของชาวล้านนา ทั้งเรื่องการแต่งกาย อาหาร การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย ความมีอัธยาศัยไมตรี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น คัมภีร์ใบลานในส่วนที่เป็นเรื่องนิยายธรรม คำสอน โดยทั่วไปจะแฝงคติธรรมคำสอน เช่นการมีสติปัญญา การไม่ประพฤติสิ่ง ที่ผิด หรือสิ่งที่ไม่ควรกระทำซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นอัปมงคล หรือเสนียดจัญไรแก่ตนเอง การมีกิริยามารยาทที่ดี ความเป็นระเบียบเรียบร้อย

การปฏิบัติตนในทางที่ดี การไม่หลอกลวงเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน การให้ความเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ คัมภีร์ใบลานยังเป็นสื่อถ่ายทอดค่านิยมและประเพณีทางสังคมแก่ชาวล้านนา เช่น ค่านิยมไม่ให้หนุ่มสาวสร้างสิ่งที่ใหญ่โตเป็นทาน ค่านิยมในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ทุกข์ยาก และความมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น