วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปใช้ในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมโดยครอบครัวในชุมชนเข้มแข็งเพื่อป้องกันและลดปัญหายาเสพติดของเด็กและเยาวชน


ชื่อรายงานวิจัย: การนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปใช้ในกระบวนการขัดเกลา
ทางสังคมโดยครอบครัวในชุมชนเข้มแข็งเพื่อป้องกันและลดปัญหา
ยาเสพติดของเด็กและเยาวชน
ผู้วิจัย: พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร พระใบฎีกาสิทธิพันธ์ เตชธมฺโม รศ.ศันสนีย์ อ่อนท้วม นางไฉไลฤดี ยุวนะศิริ นายประเสริฐ ปอนถิ่น นางสาวสกุณา คงจันทร์ นายอภิรมย์ สีดาคำ นายบุญเพียร แก้ววงศ์น้อย นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม นายยงยุทธ หลักชัย
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
ปีงบประมาณ: ๒๕๔๗
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการขัดเกลาทางสังคมของครอบครัวที่มีต่อเด็กและเยาวชนในชุมชนเข้มแข็ง กระบวนการขัดเกลาทางสังคมภายในครอบครัวโดยนำเอาหลัก คำสอนของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและลดปัญหายาเสพติด และอิทธิพลของกลุ่มองค์กรชุมชนที่พัฒนาตนเอง จนกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีต่อกระบวนการขัดเกลาทางสังคมภายในครอบครัวตามแนวพระพุทธศาสนา

การศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาประสบการณ์แนวคิดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของสังคมไทย แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับครอบครัวและการขัดเกลาทางสังคม แนวคิดในการนำหลัก คำสอนพระพุทธศาสนาไปใช้ในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมโดยครอบครัว และแนวคิดเกี่ยวกับองค์กรชุมชนกับชุมชนเข้มแข็ง

ในการวิจัยภาคสนาม คณะผู้วิจัยได้ใช้ระเบียบวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research - PAR) กับชาวบ้านในชุมชนบ้านแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น ๑๒๘ ครัวเรือน โดยคณะผู้วิจัยได้เลือกครอบครัวตัวอย่างโดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน ๗ ครอบครัว

ในการวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้แบ่งประเด็นในการศึกษาเป็น ๓ ประเด็น คือ

ประเด็นแรก การศึกษากระบวนการขัดเกลาทางสังคมของครอบครัว ที่กระทำต่อเด็กและเยาวชนในชุมชนเข้มแข็ง พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านแปะมีลักษณะที่เอื้อต่อการอบรมขัดเกลา สมาชิกในครอบครัวมีการช่วยเหลือเกื้อกูล มีการพูดคุยกัน ทำให้เกิดความสามัคคี และสามารถร่วมแก้ปัญหากันอย่างสร้างสรรค์ มีการใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน พ่อแม่มีความรับผิดชอบ ประกอบอาชีพสุจริต ส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษา ทำตนเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต มีคุณธรรม มีการใช้เหตุผล ตลอดจนมีการปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา ลักษณะเหล่านี้นอกจากจะเป็นลักษณะของครอบครัวที่พึงประสงค์แล้ว ยังเป็นสิ่งที่เอื้อให้การขัดเกลาทางสังคมได้ผลดี สามารถสร้างครอบครัวให้น่าอยู่ และนำไปสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้ในที่สุด

ประเด็นที่สอง การศึกษากระบวนการขัดเกลาทางสังคมภายในครอบครัว โดยนำเอาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาใช้ในการป้องกันและลดปัญหายาเสพติด พบว่า ชุมชนบ้านแปะ เป็นชุมชนที่ทุกครอบครัวนับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมาช้านาน โดยมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นข้ากัลปนาของวัด มีตราสัญลักษณ์และพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ในอดีต ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสถาบันพระพุทธศาสนา และมีศาสนสถานสำคัญคือ วัดบ้านแปะ ที่เป็นจุดศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชุมชน ดังนั้น กระบวนการ ขัดเกลาทางสังคมภายในครอบครัวของชุมชนบ้านแปะจึงนำเอาหลักพระพุทธศาสนามาใช้ โดยสรุป ได้ ๔ ประการ คือ
๑) การให้ความสำคัญกับเด็ก
๒) การฝึกฝนพัฒนาตนเอง
๓) ความกตัญญูกตเวที
๔) การปฏิบัติตามหน้าที่
นอกจากนี้ ในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมแนวพุทธยังมีหลักการสำคัญอีก ๔ ประการ คือ
๑) การขัดเกลาแบบครบองค์ประกอบ
๒) การขัดเกลาด้วยความเสมอภาค
๓) คำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล และ
๔) เห็นความสำคัญในการฝึกฝนพัฒนาตนเองของเด็ก อย่างไรก็ตาม การนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์อาจยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไป เพื่อให้ชุมชนปลอดภัยจากปัญหายาเสพติดอย่างแท้จริง

ประการสุดท้าย การศึกษาอิทธิพลของกลุ่มองค์กรชุมชน ที่พัฒนาตนเองจนกลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง ที่มีต่อกระบวนการขัดเกลาทางสังคมภายในครอบครัว ตามแนวพระพุทธศาสนา พบว่า กลุ่มองค์กรในชุมชนบ้านแปะมีอยู่จำนวนหลายกลุ่มและมีความหลากหลายในบทบาทหน้าที่ สามารถแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ
๑) กลุ่มองค์กรทางเศรษฐกิจ
๒) กลุ่มองค์กรทางการเมือง และ
๓) กลุ่มองค์กรสงเคราะห์และวัฒนธรรม สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่จะสังกัดกลุ่มองค์กรมากกว่าหนึ่งองค์กรขึ้นไป

ลักษณะของกลุ่มสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑) กลุ่มที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมดั้งเดิม กลุ่มประเภทนี้สามารถดำรงองค์กรอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งมีไม่มากนัก และ
๒) กลุ่มที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มหรือจัดตั้งโดยภาครัฐ ความเข้มแข็งของกลุ่มขึ้นอยู่กับปัจจัย ๒ ด้าน คือ

๒.๑) ปัจจัยภายนอก โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน มีบทบาทในฐานะเป็นแหล่งผลประโยชน์ให้แก่ชุมชน แหล่งเงินกู้ในชุมชน หรือเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง และ

๒.๒)ปัจจัยภายใน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ทั้งนี้การที่จะดำรงองค์กรอยู่ได้นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาของชาวบ้าน โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การพัฒนา” ของภาครัฐ อันมีอิทธิพลสำคัญในการสร้างวิธีคิดแก่สมาชิกในองค์กรชุมชนก่อน แล้วถ่ายทอดลงสู่วิธีคิดของสมาชิกในครอบครัวต่อไป และจากการศึกษาพบประเด็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มองค์กรชุมชนมีอิทธิพลต่อกลุ่มต่าง ๆ ในครอบครัวแตกต่างกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มพ่อบ้านที่เน้นในเรื่อง การจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำมาหากินเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มแม่บ้านมีความคิดในเชิงอนุรักษ์มากกว่า และเน้นความสำคัญของสถาบันทางสังคมที่มีอยู่เดิม

ส่วนกลุ่มเด็กและเยาวชนกลับมีมิติการมองเห็นภาพองค์รวมของชุมชนได้อย่างน่าสนใจ และมีความ ใกล้เคียงกับภาพความจริง และได้เสริมมิติของความรักความอบอุ่นจากการจัดความสัมพันธ์ในครอบครัวและการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในชุมชน ไม่เน้นการจัดการแบบสมัยใหม่แต่ให้ความสำคัญกับการจัดการตามศักยภาพของชุมชน โดยยึดหลักความพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น