วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมของพระสงฆ์ ในจังหวัดนครราชสีมา

ชื่อรายงานการวิจัย: การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมของพระสงฆ์ ในจังหวัดนครราชสีมา
ผู้วิจัย: พระมหาคำภีร์ ภูริสีโล พระครูสังฆรักษ์สมจิต พุทฺธวิริโย ผศ. สมบูรณ์ ตันยะ ผศ. เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ ผศ. ประมวล ตันยะ นายอานุภาพ ธงภักดี
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมาและเพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา ตามการรับรู้ของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีสถานภาพ พรรษา วุฒิการศึกษาแผนกสามัญ แผนกนักธรรมและแผนกบาลีแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเป็นพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมาที่มีพรรษา 1 พรรษาขึ้นไป จำนวน 975 รูป ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ วัดการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา ลักษณะของแบบสัมภาษณ์เป็นแบบตรวจสอบรายการ จำนวน 35 ข้อ และแบบสัมภาษณ์วัดการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา ลักษณะของแบบสัมภาษณ์เป็นแบบเลือกตอบ จำนวน 30 ข้อ การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการโดยคณะผู้วิจัยและผู้ช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ การทดสอบไคสแคว์ และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา ข้อที่มีจำนวนพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง รับรู้ว่ามีการปฏิบัติได้ครบถ้วนมากที่สุดในแต่ละด้าน มีดังนี้

1.1 ด้านปาฏิโมกขสังวรศีล ได้แก่ ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่สร้างความแตกแยกในหมู่สงฆ์ และไม่อวดอ้างธรรมที่ตนไม่มี

1.2 ด้านอินทรียสังวรศีล ได้แก่ มีความสำรวมในการฉันอาหาร มีความสำรวมในการฟัง และแสดงธรรมที่เน้นเนื้อหาสาระมากกว่าความสนุกสนาน

1.3 ด้านอาชีวปาริสุทธิศีล ได้แก่ ละเว้นการหลอกลวงผู้อื่นเพื่อหวังผลประโยชน์แก่ตนหรือผู้อื่น ละเว้นการร้องขอสิ่งต่าง ๆ จากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น และละเว้นการแสวงหาลาภยศโดยมิชอบ

1.4 ด้านปัจจัยสันนิสิตศีล ได้แก่ พิจารณาใช้ยารักษาโรคได้อย่างถูกต้องกับโรคยามเจ็บไข้ และใช้เสนาสนะที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่และความจำเป็น

2. การปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมของพระสงฆ์ในจังหวัดนคราชสีมา ข้อที่มีจำนวนพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีการรับรู้ว่ามีการปฏิบัติมากที่สุดในแต่ละด้าน มีดังนี้

2.1 ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม ได้แก่ การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีการแสดงธรรมต่อประชาชนในวันธัมมัสสวนะ และวันสำคัญทางศาสนา

2.2 ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ได้แก่ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปได้เรียนและสอบธรรมศึกษาชั้นต่าง ๆ

2.3 ด้านสาธารณสงเคราะห์ / พัฒนาชนบท ได้แก่ มีส่วนร่วมอำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลของประชาชน และมีส่วนร่วมในการรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือประชาชน

2.4 ด้านสาธารณูปการ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ได้แก่ มีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมภายในวัดให้สะอาด สงบและร่มรื่น เหมาะสมกับการปฏิบัติศาสนกิจ และมีส่วนร่วมในการปฏิสังขรณ์เสนาสนะในวัด

3. พระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมาที่มีตำแหน่งและพรรษาแตกต่างกัน มีการรับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ไม่แตกต่างกัน ส่วนพระสงฆ์ที่มีวุฒิการศึกษาแผนกสามัญ แผนกนักธรรมและแผนกบาลีแตกต่างกัน มีการรับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

4. พระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมาที่มีตำแหน่ง พรรษา วุฒิการศึกษาแผนกสามัญ แผนกนักธรรมและแผนกบาลีแตกต่างกัน มีการรับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมของพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น