ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาความต้องการในการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในอนาคต
ผู้วิจัย: ดร.สิน งามประโคน พระมหาลี ลกฺขณญาโณ และ ดร.ประยูร แสงใส
ส่วนงาน: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วิจัยเรื่อง การศึกษาความต้องการในการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาความต้องการด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณร (2) เพื่อเปรียบเทียบความต้องการด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณร (3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณร (4) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาความต้องการด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณร สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นพระภิกษุสามเณรทั้ง 4 ภาคของประเทศจำนวน 1,700 รูป โดยมีผลการศึกษาพอสรุปได้ดังนี้
1. พระภิกษุสามเณรมีความคิดเห็นต่อการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีในอนาคตลดน้อยลง
2. พระภิกษุสามเณรมีความคิดเห็นต่อความต้องการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาและในความต้องการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น
3. การเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุสามเณรจำแนกเป็นรายภาคพบว่า
- พระภิกษุสามเณรที่มีความต้องการศึกษาแผนกธรรมมากที่สุดคือ กลุ่มพระภิกษุสามเณรภาคเหนือ
- พระภิกษุสามเณรที่มีความต้องการศึกษาแผนกบาลีมากที่สุดคือ กลุ่มพระภิกษุสามเณรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- พระภิกษุสามเณรที่มีความต้องการศึกษาแผนกสามัญศึกษามากที่สุดคือ กลุ่มพระภิกษุสามเณรภาคเหนือ
- พระภิกษุสามเณรที่มีความต้องการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากที่สุดคือ กลุ่มพระภิกษุสามเณรภาคเหนือ
4. ปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรในอนาคตในระดับมากคือ พระภิกษุสามเณรในปัจจุบันจำเป็นต้องศึกษาให้มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคมและการศึกษาสงฆ์เป็นทางเลือกที่ดีโดยเฉพาะเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา
5. พระภิกษุสามเณรมีความคิดเห็นต่อปัญหาการศึกษาแผนกธรรมและแผนกบาลีสอดคล้องกัน 3 อันดับแรกคือ (1) งบประมาณการสนับสนุนการศึกษาน้อย (2) ครูสอนไม่เพียงพอและ (3) หลักสูตรมีเนื้อหาสาระที่ยากต่อการศึกษาด้วยตนเอง
6. พระภิกษุสามเณรมีความคิดเห็นต่อปัญหาการศึกษาแผนกสามัญศึกษาและในระดับมหาวิทยาลัยสอดคล้องกัน 3 อันดับแรกคือ (1) ไม่มีทุนการศึกษา (2) การเดินทางไปศึกษาลำบากและ (3) หาวัดอยู่จำพรรษาเพื่อการศึกษายากเพราะเจ้าอาวาสบางวัดไม่สนุบสนุนการศึกษาแผนกสามัญศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย
7. ส่วนแนวทางแก้ปัญหาการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรพบว่า (1) ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการศึกษาทุกแผนกอย่างเพียงพอ (2) ต้องการครูผู้มีความรู้และประสบการณ์ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีเพิ่มมากขึ้น (3) ควรปรับปรุงเนื้อหาสาระของหลักสูตรแผนกธรรมและแผนกบาลีให้ง่ายต่อการศึกษาด้วยตนเอง
8. สำหรับพระภิกษุสามเณรที่ต้องการศึกษาแผนกสามัญศึกษาและในระดับมหาวิทยาลัยต้องการให้รัฐบาลให้โอกาสกู้เงินยืมเรียนได้เหมือนกับนักเรียนและนักศึกษาฆราวาสและเจ้าอาวาสได้มีเมตตารับพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาเล่าเรียนและสำนักเรียนควรมีรถรับ-ส่งพระภิกษุสามเณรไปศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งในระดับมหาวิทยาลัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น