ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษารูปแบบการพัฒนาจริยธรรมแนวพุทธในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์
ผู้วิจัย: นายเสือ สัชชานนท์ นายทวีศักดิ์ ทองทิพย์ นายธนู ศรีทอง นายเมฆไท ละม้ายวรรณ์
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาจริยธรรมแนวพุทธ ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ และนำเสนอรูปแบบการพัฒนา จริยธรรมตามทฤษฎีไตรสิกขา ใช้วิธีวิจัยโดยการสัมภาษณ์กลุ่มนักเรียน กลุ่มครู และกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งสิ้นจำนวน 270 คน การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในสถานที่เป็นจริง และการศึกษาเอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการพัฒนาจริยธรรมแนวพุทธ ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ทั้งในด้านการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรม และลักษณะทางกายภาพ พบว่า มีรูปแบบการพัฒนาจริยธรรมแนวพุทธในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ชัดเจนมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมคือ รูปแบบของการจัดการเรียนรู้ประกอบด้วย
1) ด้านเนื้อหา มีการบูรณาการพุทธธรรมในสาระการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา
2) ด้านการสอน ใช้วิธีการเสริมแรงทางบวก จัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะกลุ่ม ใช้หลักธรรมเป็นฐานในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาโดยเชื่อมโยงกับชีวิตจริง
3) บุคลิกภาพของครู มีวิถีชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดี ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม แต่งกายเหมาะสม ยิ้มแย้ม เป็นกัลยาณมิตรต่อครูและนักเรียน ให้เกียรติกัน รูปแบบของกิจกรรมเชิงพุทธที่ส่งเสริมการพัฒนาจริยธรรมได้แก่
1) กิจกรรมการเข้าค่ายพุทธบุตร
2) กิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระในวันสุดสัปดาห์ การฝึกสมาธิประจำสัปดาห์
3) กิจกรรมอบรมหน้าเสาธง
4) กิจกรรมนั่งสมาธิ
5) กิจกรรมไปวัดในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6) การเรียนธรรมศึกษา รูปแบบทางกายภาพ รูปแบบทางกายภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาจริยธรรม พบว่า มีการประดิษฐานพระพุทธรูปในที่เหมาะสม มีห้องจริยธรรม บริเวณโรงเรียนสะอาด ปลอดภัย ร่มรื่น ปลอดสิ่งเสพติด มีสวนหย่อม ถอดรองเท้าเป็นระเบียบเรียบร้อย มีห้องสุขาเพียงพอและพร้อมใช้
2. รูปแบบการพัฒนาจริยธรรมตามหลักไตรสิกขา พบว่า มีรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจนทั้งในด้านลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม การพัฒนาจิตใจ และปัญญา คือ รูปแบบของการพัฒนาจริยธรรมในขั้นศีล พบว่า เป็นการพัฒนาพฤติกรรมทางกาย และวาจา โดยใช้เครื่องมือในการฝึก คือ วินัย กฎหมาย กฎ กติกา ระเบียบ การพัฒนาจริยธรรมในขั้นศีลเป็นการสร้างฐานชีวิตให้แข็งแกร่ง คนมีศีลเป็นคนไม่มีโทษ เพราะประพฤติสุจริตทางกาย การฝึกการสื่อสารที่ดี
การประกอบอาชีพที่ส่งผลให้การดำรงชีวิตมีความสุข การพัฒนาจริยธรรมในขั้นสมาธิ พบว่า สมาธิเป็นเครื่องมือในการทำจิตใจให้หนักแน่น เป็นการรวมกระแสจิตเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ใจแน่วแน่ในสิ่งเดียว มีคุณภาพและสมรรถภาพทางจิต ทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง สามารถควบคุมตนเองได้ดี ทำให้จิตนุ่มนวลควรแก่การงาน และจิตมีพลังมีคุณสมบัติความพร้อมในการปฏิบัติงาน รูปแบบของพัฒนาจริยธรรมในขั้นปัญญา เป็นการพัฒนาฝึกฝนศึกษาให้เข้าใจ มีความรู้ เกิดความเข้าใจในสรรพสิ่งตามความเป็นจริง เข้าใจตามความเกิดขึ้นของสิ่งนั้น พิจารณาสภาพปัญหาตามเหตุ ตามปัจจัยที่ส่งผลต่อกัน ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ใช้หลักความจริงแก้ปัญหาตามที่เกิดขึ้นจริง มีจิตใจเป็นอิสระจากสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิต ดำรงตนอยู่อย่างรู้เท่าทัน ใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต เข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิต รู้จักวิธีที่จะนำชีวิตไปในทางที่ดี รู้จักสร้างระเบียบวินัยให้กับชีวิตและอยู่อย่างปลอดภัยไร้เวร
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ รูปแบบการพัฒนาจริยธรรมแนวพุทธในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายควรได้รับความร่วมมือจากผู้นำ จากชุมชน เนื่องด้วยจริยธรรมเป็นสภาพแวดล้อมที่ใหญ่ของสังคม ผู้นำจึงควรเป็นผู้ได้รับการพัฒนาด้านจริยธรรมที่ดีงาม เพื่อเป็นตัวอย่างและชุมชนที่ผู้เรียนเกี่ยวข้องควรได้รับการพัฒนาจริยธรรมที่ดีงามด้วย จึงทำให้จริยธรรมที่ผู้เรียนได้รับการพัฒนาแล้วยังมีความคงทนต่อไป ความถดถอยทางจริยธรรมของผู้เรียนส่วนหนึ่ง เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมหรือชุมชนที่ผู้เรียนอาศัยอยู่ไม่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาจริยธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น