วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาความเชื่อและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน ในจังหวัดนครราชสีมา


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาความเชื่อและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน ในจังหวัดนครราชสีมา
ผู้วิจัย: ผศ. ดร. เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ พระครูสังฆรักษ์สมจิต พุทฺธวิริโย พระมหาคำภีร์ ภูริสีโล พระมหาพงษ์เชฏฐ์ ธีรวํโส ผศ. ดร. สมบูรณ์ ตันยะ ผศ. ประมวล ตันยะ
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความเชื่อและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา ตามตัวแปร เพศ ระดับการศึกษา ภูมิลำเนา และอายุ รวมทั้งหาความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมาด้วย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 1,958 คน แยกเป็นนักเรียนนักศึกษา จำนวน 958 คน และประชาชนทั่วไป 1,000 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบวัดความเชื่อและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ของศาสตราจารย์ ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวินและคณะ จำนวน 20 ข้อ ลักษณะของแบบวัดเป็นแบบมาตรประเมินรวมค่า ชนิด 6 ระดับ จากจริงมากที่สุด ถึงไม่จริงเลย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที การทดสอบความแปรปรวนทางเดียว และทดสอบรายคู่โดยวิธีการของ Scheffe‘ และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. พุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในระดับมาก ทั้งในภาพรวมและเมื่อจำแนกเป็นด้าน โดยมีความเชื่อเรื่อง ไตรสรณคมน์สูงที่สุด และมีความเชื่อเรื่องนิพพานต่ำที่สุด นักเรียนนักศึกษาหญิงมีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมมากกว่าชาย นักเรียนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเทศบาล มีความเชื่อเรื่อง ไตรสรณคมน์และเรื่องกฎแห่งกรรมมากกว่านักเรียนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาล นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีความเชื่อเรื่องไตรสรณคมน์และเรื่องกฎแห่งกรรม มากกว่านักศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป

2. พุทธศาสนิกชนที่เป็นประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในระดับมากทั้งในภาพรวมและเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน โดยมีความเชื่อเรื่อง ไตรสรณคมน์สูงที่สุด และมีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมต่ำที่สุด ประชาชนหญิงมีความเชื่อ เรื่องกฎแห่งกรรมมากกว่าชาย ประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเทศบาล มีความเชื่อเรื่อง ไตรสรณคมน์สูงกว่าประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาล ประชาชนที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป มีความเชื่อเรื่องไตรสรณคมน์และความเชื่อเรื่องนิพพานมากกว่าประชาชนกลุ่มอายุอื่น ๆ ประชาชนที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีความเชื่อทางพระพุทธศาสนาไม่แตกต่างกัน

3. พุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา มีความเชื่อเรื่อง กฎแห่งกรรมมากกว่าประชาชนทั่วไป แต่ประชาชนทั่วไปมีความเชื่อเรื่องไตรสรณคมน์มากกว่านักเรียนนักศึกษา

4. พุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา มีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาอยู่ในระดับมากทั้งในภาพรวมและเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน โดยมีการปฏิบัติในด้านภาวนาสูงที่สุด และมีการปฏิบัติด้านทานต่ำที่สุด นักเรียนนักศึกษาหญิงมีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนามากกว่าชายในทุกด้าน นักเรียนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเทศบาลมีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาสูงกว่านักเรียนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลทุกด้าน นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาด้านทานสูงกว่านักศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป ส่วนด้านภาวนา นักศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป มีการปฏิบัติสูงกว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย

5. พุทธศาสนิกชนที่เป็นประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา มีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาอยู่ในระดับมากทั้งในภาพรวมและเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน โดยมีการปฏิบัติด้านภาวนาสูงที่สุด และมีการปฏิบัติด้านทานต่ำที่สุด ประชาชนหญิงมีการปฏิบัติด้านศีลมากกว่าชาย ประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเทศบาล มีการปฏิบัติด้านทาน และศีลมากกว่าประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาล ประชาชนที่มีการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป มีการปฏิบัติในทุกด้านมากกว่าประชาชนที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ประชาชนที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป มีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนามากกว่าประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี

6. พุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษามีการปฏิบัติด้านภาวนามากกว่าประชาชนทั่วไป แต่ประชาชนทั่วไปมีการปฏิบัติด้านทานมากกว่านักเรียนนักศึกษา

7. ความเชื่อและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา มีความสัมพันธ์กันทางบวก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น