วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศึกษาทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ชื่อรายงานวิจัย ศึกษาทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ผู้วิจัย พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี (โอฐสู) และคณะ
หน่วยงาน ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ส่วนธรรมนิเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้ศึกษาถึงสภาพของผู้เข้ารับการฝึกอบรมก่อนการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในด้านปัจจัยทางชีวสังคม คือ เพศ อายุ การศึกษา และอาชีพ ระดับทัศนคติของพุทธศาสนิกชนต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๔ ด้าน คือ วิธีการปฏิบัติพระวิปัสสนาจารย์ การดำเนินงานโครงการ ผู้ร่วมปฏิบัติด้วยกัน และสัมพันธภาพระหว่างพระวิปัสสนาจารย์กับผู้ปฏิบัติ และศึกษาทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการนำวิปัสสนากัมมัฏฐานไปใช้ในชีวิต ๔ ด้าน คือ การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน การควบคุมอารมณ์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนซึ่งเข้ารับฝึกอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีจำนวนทั้งสิ้น จำนวน 220 คน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 150 คน ณ สำนักงานพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เข้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคม 2547 และ 2) กลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 70 คน ณ มูลนิธิพร รัตนสุวรรณ จังหวัดปทุมธานี เข้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2547 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลในการสอบถามทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่วนที่ 3 เป็นข้อมูลในการสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับการจะนำเอาวิปัสสนากัมมัฏฐานไปใช้ในชีวิต

การวิเคราะห์ข้อมูลใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมสำเร็จรูป Spss for Windows แล้วนำมาตีความโดยการใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ค้นหาสัดส่วน (Proportion) แล้วนำเสนอค่าร้อยละควบคู่ไปกับค่าความถี่จำนวนของตัวแปรในแต่กลุ่มอันเป็นพื้นฐานของกลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ เพศ อายุ สถานภาพ การศึกษา ฯลฯ ของพุทธศาสนิกชนที่เข้ารับการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้นำเสนอในรูปแบบตารางแสดงค่าความถี่ร้อยละของกลุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์แนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลางของระดับทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน และการประยุกต์ใช้ในชีวิต โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ค้นหาค่าเฉลี่ย (Mean) ได้แก่ค่าที่เกิดจากการรวมตัวกันทั้งหมดของค่าร้อยละ (Percentage) แล้วนำไปหารด้วยจำนวนข้อมูล (Percentage) ได้ค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างส่วนกลาง โดยนำเสนอในรูปแบบตารางแสดงค่าความถี่ร้อยละของกลุ่มตัวอย่าง และอภิปรายผลตามลำดับ ผลการวิจัย พบว่า

ทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในด้านปัจจัยทาง ชีวสังคม ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 90.0 และเพศชายคิดเป็นร้อยละ 20.0 ช่วงอายุที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่จนถึงวัยชรา จะเป็นผู้ที่สนใจการปฏิบัติธรรมมากที่สุด โดยมี ช่วงอายุมากว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ อายุ 55- 60 คิดเป็นร้อยละ 25.5 และ อายุระหว่าง 45-54 คิดเป็นร้อยละ 20.9 และเป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงอายุที่อยู่ในระหว่างวัยเรียนเข้าร่วมน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 3.6 เท่านั้น, ด้านวิธีการปฏิบัติโดยภาพรวมอยู่ในระดับที่ดีโดยที่มีความคิดเห็นด้านการได้รับผลดีมีความสุข ด้วยวิธีการปฏิบัตินี้ มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ 4.61 ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับขณะนั่งสมาธิผู้ปฏิบัติสังเกตอาการพอง-ยุบได้ มีระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ 3.99, ด้านพระวิปัสสนาจารย์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับที่ดีโดยที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับพระวิปัสสนาจารย์สามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติได้ มีระดับคะแนนสูงสุดคิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.80 , ด้านการดำเนินงานโครงการโดยรวมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีโดยที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติมีความเหมาะสมในการเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน มีระดับคะแนนสูงสุดคือมีค่าเฉลี่ย 4.63, ด้านผู้ร่วมปฏิบัติด้วยกันมีระดับคะแนนสูงสุดคือมีค่าเฉลี่ย 4.46, ด้านสัมพันธภาพระหว่างวิปัสสนาจารย์กับผู้ปฏิบัติมีระดับคะแนนสูงสุดคือมีค่าเฉลี่ย 4.72 , ทัศนคติที่มีต่อการนำไปใช้ในชีวิตมีค่าเฉลี่ยรวมกันเท่ากับ 4.41, การควบคุมอารมณ์ มีค่าเฉลี่ยรวมกันเท่ากับ 4.28, การอยู่ร่วมกันในสังคม มีค่าเฉลี่ยรวมกันเท่ากับ 4.60, ทัศนคติของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐานที่เห็นผลได้ชัดเจน คือ เป็นการพัฒนาสติ การระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม จากฐานทั้ง 4 จนมีพลังพอที่จะเอามาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การรับประทานอาหาร การคู้ การเหยียด การนุ่งห่มเสื้อผ้า การอาบน้ำ ตลอดจนการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ จึงทำให้การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นไปในการพัฒนาและการส่งเสริมสุขภาพจิต และสติสัมปชัญญะที่ได้จากการปฏิบัติสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ทำให้คนเราลดความเห็นแก่ตัว รู้จักการปล่อยวางและการให้อภัย มีความเมตตากรุณา และความเอื้ออาทรต่อกัน อันเป็นผลดีต่อตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติโดยส่วนรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น