วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครราชสีมา

ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบัน พระพุทธศาสนาในจังหวัดนครราชสีมา
ผู้วิจัย: ผศ. ประมวล ตันยะ ผศ. เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ ผศ. สมบูรณ์ ตันยะ พระครูสังฆรักษ์สมจิต พุทฺธวิริโย พระมหาคำภีร์ ภูริสีโล นายอานุภาพ ธงภักดี
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครราชสีมา ในประเด็นเกี่ยวกับองค์ประกอบหรือสิ่งที่ควรทำการเสริมสร้าง วิธีการหรือรูปแบบในการดำเนินการและหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 รวบรวมและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครราชสีมา จากผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องและข้อมูลพื้นฐานของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครราชสีมา ขั้นตอนที่ 2 กำหนดแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครราชสีมา โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากฝ่ายคณะสงฆ์และฆราวาส จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 21 รูป/คน และ 15 รูป/คน ตามลำดับ ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 2 ครั้ง ได้แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครราชสีมา ดังต่อไปนี้

1. ด้านวัด สิ่งที่ควรทำการเสริมสร้างได้แก่ อาคารสถานที่ การบริหารจัดการ การพัฒนาวัด และแหล่งการเรียนรู้พระพุทธศาสนา

2. ด้านพระภิกษุสามเณร สิ่งที่ควรทำการเสริมสร้างได้แก่ การเพิ่มจำนวนพระภิกษุสามเณร และการพัฒนาคุณลักษณะพระภิกษุสามเณร

3. ด้านพุทธศาสนิกชน ได้แยกเป็น 3 ส่วน คือ 1. พุทธศาสนิกชนที่ดูแลและสนับสนุนงานของวัด สิ่งที่ควรทำการเสริมสร้างได้แก่ การส่งเสริมให้มีการแต่งตั้งไวยาวัจกร องค์กร กลุ่มหรือชมรมพระพุทธศาสนาในท้องถิ่น และการจัดตั้งหรือพัฒนากองทุนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันพระพุทธศาสนาในทุกอำเภอ 2. พุทธศาสนิกชนที่เป็นประชาชนทั่วไป สิ่งที่ควรทำการเสริมสร้างได้แก่ การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในวัด การฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม และการปฏิบัติธรรม 3. พุทธศาสนิกชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษา สิ่งที่ควรทำการส่งเสริมได้แก่ การเรียนการสอนธรรมศึกษา การฝึกอบรมคุณธรรมจริยธรรม และการเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ เป็นองค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องในงานแต่ละด้าน ตั้งแต่สำนักงานเจ้าคณะจังหวัด อำเภอ ตำบล ศูนย์ปริยัตินิเทศก์ สำนักศาสนศึกษา เจ้าสำนักเรียนคณะจังหวัด เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร กรรมการวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น