วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำกับการรับรู้ประสิทธิภาพการบริหารงาน ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยสงฆ์


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำกับการรับรู้ประสิทธิภาพ
การบริหารงาน ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยสงฆ์
ผู้วิจัย: ดร.สิริวัฒน์ ศรีเครือดง พระมหาทองศรี เอกวํโส (เอกพันธ์)
ดร. ชัยสิทธิ์ ทองบริสุทธิ์
ส่วนงาน: ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1) เพื่อศึกษาระดับภาวะผู้นำ การรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงาน และประสิทธิผลการบริหารวิชาการและการบริหารงานทั่วไป ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยสงฆ์

2) เพื่อศึกษาความแตกต่างในลักษณะผู้นำ การรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงาน และประสิทธิผลการบริหารวิชาการ และการบริหารงานทั่วไปของผู้บริหารที่มีปัจจัยภูมิหลังแตกต่างกัน

3) เพื่อศึกษาความแตกต่าง ในการรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงาน และประสิทธิผลการบริหารวิชาการและการบริหารงานทั่วไปของผู้บริหารที่มีพฤติกรรมมุ่งงานและมุ่งสัมพันธ์

4) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำ สภาพการณ์ของหน่วยงานและประสิทธิผลการบริหารวิชาการและการบริหารงานทั่วไป

กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยนี้ ประกอบด้วยผู้บริหารในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย ทั้งจากส่วนกลางและวิทยาเขตทั่วประเทศ จำนวน 171 รูป/ท่าน สุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นซึ่งมี 4 ตอน คือ 1) แบบสอบถามประวัติและภูมิหลังของกลุ่มตัวอย่าง 2) แบบสอบถามวัดพฤติกรรมผู้นำ 3) แบบสอบถามวัดสภาพการณ์ในหน่วยงาน และ 4) แบบสอบถามวัดประสิทธิผลของการบริหารวิชาการและการบริหารงานทั่วไป ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้

ภาวะผู้นำของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีลักษณะพฤติกรรมแบบผสมผสานระหว่างใฝ่สัมพันธ์และใฝ่สัมฤทธิ์บางโอกาส การรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงาน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ในระดับสูง ด้านโครงสร้างของงานในหน่วยงานอยู่ในระดับปานกลาง การรับรู้ประสิทธิผลการบริหารวิชาการและการบริหารงานทั่วไป อยู่ในระดับปานกลาง

ความแตกต่างด้านภูมิหลังซึ่งประกอบด้วย อายุ อายุงาน สังกัดของผู้บริหาร (มหาวิทยาลัยส่วนกลางและวิทยาเขต) ระดับการศึกษาสูงสุด ระดับตำแหน่งบริหาร อายุงานในตำแหน่งปัจจุบัน และสังกัดคณะ/หน่วยงาน ไม่มีผลต่อลักษณะพฤติกรรมผู้นำ ระดับการรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงาน ประสิทธิผลการบริหารวิชาการ และประสิทธิผลการบริหารทั่วไป ความแตกต่างด้านลักษณะพฤติกรรมผู้นำ มีผลต่อการรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงานด้านอำนาจตามตำแหน่ง แต่ไม่มีผลต่อการรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงาน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานและผู้ใต้บังคับบัญชาด้านโครงสร้างงานในหน่วยงาน ประสิทธิผลการบริหารวิชาการและประสิทธิผลการบริหารทั่วไป

มีความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมผู้นำและการรับรู้สภาพการณ์ของหน่วยงาน ระหว่างพฤติกรรมผู้นำและความคิดเห็นต่อประสิทธิผลการบริหารวิชาการ และระหว่างพฤติกรรมผู้นำและความคิดเห็นต่อประสิทธิผลการบริหารงานทั่วไปมีความสัมพันธ์ ระหว่างการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชาและการรับรู้โครงสร้างงานในหน่วยงาน ระหว่างการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชาและอำนาจในตำแหน่ง ระหว่างการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชาและประสิทธิผลการบริหารวิชาการ และระหว่างการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับผู้ใต้บังคับบัญชา และประสิทธิผลการบริหารทั่วไป มีความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้โครงสร้างงานในหน่วยงาน และอำนาจในตำแหน่ง ระหว่างการรับรู้โครงสร้างงานในหน่วยงาน และประสิทธิผลการบริหารวิชาการ และระหว่างการรับรู้โครงสร้างงานในหน่วยงานและประสิทธิผลการบริหารทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น