วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ผู้วิจัย: ดร.สิน งามประโคน, พระมหาลี ลกฺขณญาโณ, ดร.อินถา ศิริวรรณ
ส่วนงาน: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2546
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การศึกษาคุณธรรมและจริยธรรมของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาคุณธรรมและจริยธรรมของนิสิตนักศึกษาตามการรับรู้ ของนิสิตนักศึกษา 2) เพื่อศึกษาคุณธรรม และจริยธรรมของนิสิตนักศึกษาตามการรับรู้ของครู อาจารย์ 3) เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนิสิตนักศึกษา สำหรับการศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ และเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ครู อาจารย์ จำนวน 290 คน และนิสิต นักศึกษา จำนวน 1,675 คน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า t-test ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษามีดังนี้

ครู อาจารย์และนิสิตนักศึกษามีความคิดเห็นต่อคุณธรรมและจริยธรรมของนิสิตนักศึกษาในแต่ละด้าน ดังนี้
1) ด้านการพัฒนาตนเองของครู อาจารย์ นิสิตนักศึกษามีความคิดเห็นสอดคล้องกันที่เด่นชัด คือ มีความกตัญญูกตเวทีสำนึกในบุญคุณของผู้อื่นหรือสิ่งอื่น รู้จักเลือกแบบอย่างที่ดีนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและ มีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิตโดยสุจริตและรู้จักรับฟังเหตุผลจากผู้อื่นและพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเอง ในระดับปานกลาง ต่ำกว่าความคิดเห็นของครู อาจารย์ คือ รู้หลักการปฏิบัติ ตนให้ดีในท้องถิ่น ชุมชนและสังคม รู้จักประมาณในการบริโภคและการใช้จ่ายทรัพย์ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
2) ด้านสังคม ครู อาจารย์ นิสิตนักศึกษามีความคิดเห็นสอดคล้องกันที่เด่นชัด คือ นิสิต นักศึกษาไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่รักของหวงแหนของผู้อื่นรวมทั้งสิ่งของและข่มเหงจิตใจลบหลู่เกียรติ และวงศ์ตระกูล แสดงไมตรีและความหวังต่อเพื่อนร่วมงานด้วยความเต็มใจ โดยไม่เอารัด เอาเปรียบ เคารพสิทธิซึ่งกันและกันและเข้าใจในหลักกรรมว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว
3) ด้านคุณลักษณะ การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมของนิสิต นักศึกษาที่เด่นชัด คือ เมื่อเห็นผู้อื่นทำดีประสบความสำเร็จก็พลอยยินดี มีใจเป็นกลาง เข้าใจด้วยเหตุผล และอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์
4) ด้านการบำเพ็ญตนสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นของนิสิต นักศึกษาที่เด่นชัด คือการรู้จักปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ และวางตนเสมอต้นเสมอปลาย แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ และรู้จักพูดให้เกิดความเข้าใจดี สมานสามัคคีต่อกัน
5) ด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนิสิตนักศึกษาที่เด่นชัด คือ นักศึกษาอบอุ่นใจเมื่ออยู่กับครอบครัว และสภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นสื่อกลางส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรม

ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนิสิตนักศึกษาในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้
1) ปัญหาและอุปสรรคของตัวนิสิตนักศึกษาด้านการพัฒนาตนเอง ที่เด่นชัด คือ ปล่อยจิตใจตามกระแสบริโภคนิยม ขาดการควบคุมกาย และจิตใจ และนักศึกษามีค่านิยมไม่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดปัญหาในตนเอง และสังคมมากขึ้น ไม่รู้จักฐานะตนเองในการดำเนินชีวิต
2) ปัญหาและอุปสรรคของตัวนิสิตนักศึกษาด้านสังคมที่เด่นชัด คือ นักศึกษาติดเพื่อนมีพฤติกรรมเลียนแบบซึ่งกันและกัน แม้จะรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง และนักศึกษาสนใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและโลกในปัจจุบัน
3) ปัญหาและอุปสรรคของตัวนิสิตนักศึกษาด้านสภาพแวดล้อมที่เด่นชัด คือ ครู อาจารย์ ยังไม่เป็นกัลยาณมิตรของนักศึกษา นักศึกษาชอบเลียนแบบพฤติกรรมแบบตะวันตก เช่นการแต่งกาย การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เปลี่ยนทรงผม สภาพแวดล้อมทางสังคมและสื่อประเภทต่าง ๆ มอมเมานักศึกษาให้เกิดพฤติกรรมบริโภคอย่างขาดสติ และนักศึกษายังหลงคำโฆษณาชวนเชื่อ สิ่งบริโภค และอุปโภคต่าง ๆ ในทางผิด เช่น การโฆษณาทางโทรศัพท์ โดยขาดวิจารณญาณที่ดี
4) ปัญหาและอุปสรรคของตัวนิสิตนักศึกษาด้านการเรียนการสอนที่เด่นชัด คือ การอบรมสั่งสอนและปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ มีภาระหน้าที่ในการสอนและงานอื่น ๆ มาก จึงไม่มีเวลาเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมแก่นิสิตนักศึกษา
5) ปัญหาและอุปสรรคของตัวนิสิตนักศึกษาด้านกลุ่มเพื่อนที่เด่นชัด คือ นักศึกษามักจะเชื่อเพื่อน และช่วยกันปกปิดความลับของเพื่อนในทางที่ไม่ถูกและบางครั้งนักศึกษาชอบทำตามเพื่อนในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เช่น การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และสารเสพติด เป็นต้น เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม พบว่า ครู อาจารย์ และนิสิตนักศึกษา มีความคิดเห็นในข้อที่นิสิตนักศึกษาต้องปรับปรุงแก้ไขตนเอง คือ การรู้จักคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และมีความขยัน ประหยัด และอดทนซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

แนวทางในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมแก่นิสิต นักศึกษาที่เด่นชัด คือ พ่อแม่ ให้การอบรมสั่งสอน ช่วยชี้แนะพฤติกรรมของตนเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย กลุ่มเพื่อนมีส่วนช่วยชักจูงใจให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดี ควรมีการแนะนำต้นแบบที่ดี หรือแบบอย่างที่ดีแก่นิสิตนักศึกษา และควรจัดกิจกรรมให้มีการยกย่องส่งเสริมคนดี และว่ากล่าวตักเตือนให้นิสิตนักศึกษา ปรับปรุงพฤติกรรมที่บกพร่องและการจัดสภาพแวดล้อมสื่อเพื่อส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสถานศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น