วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ในเขตจังหวัดสุรินทร์


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาระดับ อุดมศึกษา ในเขตจังหวัดสุรินทร์
ผู้วิจัย: นายประสงค์ ทองประ นายทวีศักดิ์ ทองทิพย์ นายบรรจง โสดาดี นายธนู ศรีทอง
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์
ปีงบประมาณ: 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา สาเหตุของการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา และแนวทางแก้ปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในเขตจังหวัดสุรินทร์ โดยใช้แบบสอบถามเก็บ รวบรวมข้อมูลวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 433 คน ซึ่งเป็นครู-อาจารย์ บุคลากรทางศึกษา และผู้ปกครอง ที่สังกัดสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเขตจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 8 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Microsoft Excel และใช้ค่าสถิติ ร้อยละ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้

1. สภาพปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา จากข้อคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 20 ข้อ พบว่า นักศึกษาขาดคุณธรรมจริยธรรมทุกข้อ เรียงอันดับความสำคัญของสภาพปัญหาจากมากไปหาน้อยโดยใช้ค่าร้อยละ ดังนี้ ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ร้อยละ 81.30 เที่ยวกลางคืนหรือสถานเริงรมย์ ร้อยละ 81.06 การเสพสิ่งเสพติดให้โทษ ร้อยละ 78.75 เที่ยวเตร็ดเตร่ ร้อยละ 77.14 ประพฤติผิดทางกามารมณ์ในทำนองชู้สาว ร้อยละ 77.14 ขาดความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ร้อยละ 77.00 ไม่เคารพ กฎระเบียบวินัยของสังคม ร้อยละ 75.52 ขาดเหตุผล ร้อยละ 75.00 ขาดความขยันหมั่นเพียร ร้อยละ 74.83 ขาดความละอายต่อความชั่วไม่เกรงกลัวต่อบาป ร้อยละ 73.90 ขาดความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ร้อยละ 73.44 ขาดความรับผิดชอบ ร้อยละ 73.28 ขาดความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 72.98 ขาดการใฝ่รู้ใฝ่เรียนเพื่อพัฒนาตนเอง ร้อยละ 70.67 ขาดความอดทน ร้อยละ 70.67 ก่อความรำคาญรบกวนผู้อื่น ร้อยละ 70.44 ขาดความสามัคคี ร้อยละ 69.75 มั่วสุมคบเพื่อนชั่ว ร้อยละ 69.05 เล่นการพนัน ร้อยละ 67.67 ขาดความกตัญญูรู้คุณ ร้อยละ 67.20 และขาดคุณธรรมจริยธรรมข้ออื่น ๆ อีก สรุปเรียงอันดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ดังนี้ พูดนินทาว่าร้ายผู้อื่น พูดโกหก มีจิตใจไม่หนักแน่น จิตใจรวนเร หูเบา ประมาทในการดำเนินชีวิต ขาดความรักความเมตตาต่อกัน ไม่รู้จักประมาณตนเอง ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ทำร้ายร่างกายผู้อื่น

2. สาเหตุของการขาดคุณธรรมจริยธรรม พบว่า เกิดจากสาเหตุหลายประการ สรุปได้เป็น 2 สาเหตุ คือ สาเหตุภายในและสาเหตุภายนอก สาเหตุภายใน คือ สาเหตุจากตัวนักศึกษา ได้แก่ ขาดความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม ขาดจิตสำนึกที่ดี มีความเห็นที่ผิด ชอบสนุกชอบสบาย เห็นแก่ได้ ขาดสติพิจารณาเหตุผล ขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต มีค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง มีจิตใจหยาบกระด้าง ชอบเที่ยว ไม่ยอมรับฟังคำแนะนำ ขาดความตระหนักในหน้าที่ อยากรู้อยากเห็นอยากทดลอง นิยมความรุนแรง ขาดความรู้เรื่องกฎระเบียบวินัยของสังคม มีนิสัยมักง่าย เห็นแก่ตัว ชอบอวดความยิ่งใหญ่ ไม่เห็นโทษของการเที่ยวกลางคืน มีนิสัยเกียจคร้าน ไม่เห็นโทษของการเที่ยวเตร็ดเตร่ ขาดการวางแผนชีวิตที่ดี ไม่เห็นความสำคัญของการให้ ถือตนเป็นใหญ่ ไม่เห็นโทษของความเกียจคร้าน สภาพจิตใจอ่อนแอ ขาดความรู้เรื่องกรรม ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่เห็นโทษของการพนัน ไม่เห็นคุณของความขยัน สาเหตุภายนอก คือ สาเหตุจากภายนอกตัวนักศึกษา ได้แก่ ขาดการอบรมแนะนำที่ถูกต้อง ขาดแบบอย่างที่ดี ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว กระทำตามเพื่อน การเปลี่ยนแปลงทางระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ภาวะเศรษฐกิจบีบคั้น เลียนแบบพฤติกรรมทางสื่อมวลชนและสังคมที่ไม่ดี มีสถานเริงรมย์เปิดบริการมาก สภาพแวดล้อมยั่วยุและชักนำ เพื่อให้สังคมและเพื่อนยอมรับ ผู้ถือกฎ ระเบียบวินัยทางสังคมปฏิบัติหย่อนยาน ผู้ใหญ่ไม่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ขาดการปลูกฝังในสิ่งที่ดีงาม ความด้อยในฐานะอาชีพและสังคม สถานศึกษาไม่เอื้อต่อการศึกษาเล่าเรียน

3. แนวทางแก้ปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา พบว่า แนวทางแก้ปัญหาสรุปได้เป็น 2 แนวทาง คือ การแก้ปัญหาโดยตัวนักศึกษาเอง และการแก้ปัญหาโดยบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก การแก้ปัญหาโดยตัวนักศึกษาเอง ได้แก่ นักศึกษาจะต้องที่จิตสำนึกที่ดี สนใจใฝ่เรียนรู้และน้อมนำหลักคุณธรรมจริยธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต จะต้องไม่ประมาท พร้อมที่จะรับฟังเหตุผล ปรับตัวให้เหมาะสมกับการเป็นนักศึกษา และปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาโดยบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก ได้แก่ ครอบครัว ครู- อาจารย์ บุคลกรทางการศึกษา พระสงฆ์ และผู้ใหญ่ในสังคมจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความรักความอบอุ่น ให้คำปรึกษาแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้การช่วยเหลือแก้ปัญหาต่าง ๆ โรงเรียนและสถานศึกษาจะต้องปรับปรุงหลักสูตรโดยบรรจุเนื้อหาวิชาด้านคุณธรรมจริยธรรมให้มากขึ้น นิมนต์พระภิกษุมาช่วยสอนช่วยอบรมให้ความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ด้านการบูรณาการคุณธรรมจริยธรรมเข้ากับเนื้อหาวิชาหลัก และจะต้องนำพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลรายวิชาด้วย โรงเรียนอาจจัดเรียนนอกสถานที่โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โรงเรียนและวัดควรร่วมกันจัดโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อมูลหรือเผยแพร่ข่าวสารด้านคุณธรรมจริยธรรมให้เหมาะสมกับเยาวชน สุดท้ายรัฐจะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมอย่างจริงจัง โดยกำหนดเป็นนโยบายหลักของชาติและจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแก่หน่วยงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นกิจกรรมที่ดี ควรส่งเสริมให้มาก เพราะเยาวชน หลายๆคน ไม่มี

    ตอบลบ
  2. ผู้ใหญ่รุ่นก่อนที่เค้าว่ามีศิลธรรมกว่าสมัยนี้ก็ชักเป๋ๆ พอเจอเรื่องกดดันมากๆเข้าก็เริ่มเห็นแก่ตัว
    หรือไม่บางคนก็ยังมีคุณธรรมศิลธรรมอยู่ แต่ค่านิยมเก่าๆฝังหัวถอนไม่ขึ้น กลายเป็นที่อึดอัดของคนรอบข้าง คนดีต้องเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าคนดีตามแบบของคนรุ่นเก่า ซึ่งในยุคปัจจุบันมันมีศิลธรรมใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย
    ยิ่งถ้าเด็กสมัยนี้ถูกอบรมด้วยคนรุ่นก่อนที่เร่งให้ทำอะไรๆโดยไม่สนถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เด็กอาจโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ซึมเศร้า แล้วก็มักชอบโทษว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีศิลธรรม สภาพแวดล้อมมันบีบคั้นขึ้น การเรียนหนังสือแข่งขันสูงกว่าสมัยก่อน งานการก็หายากกว่าสมัยก่อน คนรุ่นก่อนที่เกิดมาในยุคที่อะไรก็ง่ายไปหมดคงไม่เข้าใจ
    เพราะฉะนั้นควรอบรมทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ในยุคนี้ไม่ว่าจะคนรุ่นไหน ก็มีแนวโน้มขาดคุณธรรมกันได้ทุกคน

    ตอบลบ