วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ในเขตชายแดน ไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์


ชื่อรายงานการวิจัย : การศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์
ในเขตชายแดน ไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์
ผู้วิจัย : นายทวีศักดิ์ ทองทิพย์ นายประสงค์ ทองประ นายธนู ศรีทอง นายบรรจง โสดาดี
ส่วนงาน : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์
ปีงบประมาณ : 2547
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ สาเหตุของปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ และแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ในทัศนะของพระสังฆาธิการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ในเขตชายแดน ไทย-กัมพูชา ในเขตจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ วิธีดำเนินการวิจัย โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกต และสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยใช้แบบบันทึกการสังเกต และแบบสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ที่ค้นพบมี 2 ด้าน คือ สภาพปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ด้านปริมาณและสภาพปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ด้านคุณภาพ

2. สาเหตุของปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ที่ค้นพบมี 2 สาเหตุหลัก คือ สาเหตุภายนอก ได้แก่ สภาพทั่วไปด้านชุมชนและด้านการบริหารของคณะสงฆ์ สาเหตุภายใน ได้แก่ ด้านลักษณะของวัดและด้านพระสงฆ์

3. แนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ ในทัศนะของพระสังฆาธิการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ พบว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ที่เกิดจากสาเหตุภายนอกได้แก่ ปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพทั่วไปด้านชุมชน คณะสงฆ์ ประชาชนและรัฐต้องเข้าไปร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับด้านการบริหารคณะสงฆ์ องค์กรสงฆ์ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ที่เกิดจากสาเหตุภายใน ได้แก่ ปัญหาที่เกี่ยวกับลักษณะของวัด คณะสงฆ์ หน่วยงานของรัฐและชุมชน ต้องเข้าไปร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับด้านพระสงฆ์ องค์กรสงฆ์ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ทั้งที่จากสาเหตุภายนอกและสาเหตุภายในควรกำหนดเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์และโครงการ การแก้ไขต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ คือ รัฐรับรู้สภาพปัญหา การขาดแคลนพระสงฆ์ พร้อมทั้งศึกษาสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม แล้ว กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ โครงการ แก้ไขปัญหา โดยดำเนินการผ่านองค์การของรัฐที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นนั้นๆ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมรับรู้สภาพปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ ร่วมมือกับรัฐและประชาชน ศึกษาสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ให้ชัดเจน เป็นระบบ เป็นรูปธรรม แล้วกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ โครงการแก้ไขปัญหา โดยดำเนินการผ่านไปตามลำดับชั้น สายงาน การปกครองของคณะสงฆ์ ชุมชนตระหนักถึงปัญหา สาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพระสงฆ์ ให้ความร่วมมือกับรัฐและคณะสงฆ์ ในการแก้ไขปัญหาการ ขาดแคลนพระสงฆ์ โดยปราชญ์ชาวบ้านและมัคคทายก จะต้องเข้าไปปฎิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมมือกันกับพระสงฆ์ในวัด พร้อมทั้งปลูกฝังให้คนในชุมชนมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ ไวยาวัจกรร่วมมือกับพระสงฆ์และคณะกรรมการวัด จัดดำเนินการเกี่ยวกับการเงินของวัดให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ชาวบ้าน เยาวชนหนุ่มสาว ตระหนักถึงคุณค่าของวัดและพระสงฆ์ นำระบบบุญกุศลมาใช้ปฏิบัติ เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาวัด อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น