วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การประเมินโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตภาคเหนือ

ชื่อรายงานการวิจัย: การประเมินโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตภาคเหนือ
ผู้วิจัย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์พูนทรัพย์ เกตุวีระพงศ์ พระมหาสิมรัตน์ สิริธมฺโม
นางชลธิชา จิรภัคพงค์
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

ในการวิจัยครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อประเมินผลโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามความคิดเห็น ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตภาคเหนือ ใน 4 ด้าน คือ ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ และเพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนิสิตเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตร จำแนกตามวิทยาเขตภาคเหนือ และจำแนกตามคณะโดยใช้กลุ่มประชากร ได้แก่ นิสิตวิทยาเขตแพร่ จำนวน 99 รูป นิสิตวิทยาเขตเชียงใหม่ จำนวน 128 รูป นิสิตวิทยาเขตพะเยา จำนวน 123 รูป รวม 350 รูป การเก็บรวมรวบข้อมูลใช้แบบสอบถาม ประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย เลขคณิต (Arithmetic Means) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Diviation) และค่าเอฟ (F–test) ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา นำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่ แล้วนำข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว

ผลการวิจัย พบว่า มีนิสิตตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 281 รูป คิดเป็นร้อยละ 80.29 จำแนกตามวิทยาเขต คือ วิทยาเขตแพร่ จำนวน 90 รูป คิดเป็นร้อยละ 25.71 วิทยาเขตเชียงใหม่ จำนวน 83 รูป คิดเป็นร้อยละ 23.71 และวิทยาเขตพะเยา 108 รูป คิดเป็นร้อยละ 30.89 จำแนกตามคณะวิชาที่สังกัด คณะพุทธศาสตร์ จำนวน 87 คิดเป็นร้อยละ 24.86 คณะครุศาสตร์ จำนวน 35 คิดเป็นร้อยละ 10.0 คณะสังคมศาสตร์ จำนวน 126 คิดเป็นร้อยละ 36.0 และคณะมนุษยศาสตร์ จำนวน 33 คิดเป็นร้อยละ 9.43

ความเป็นคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตรมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตภาคเหนือ ในภาพรวมทั้ง 4 ด้าน มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน

สำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบระดับความคิดเห็นเปรียบเทียบความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตรมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตภาคเหนือ จำแนกตามที่ตั้งของวิทยาเขต พบว่า ในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และ ด้านผลกระทบ มีระดับความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนการวิเคราะห์เปรียบเทียบ จำแนกตามคณะวิชา พบว่า ในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และ ด้านผลกระทบ มีระดับความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น