วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศึกษาปรากฏการณ์วิธีการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ในปัจจุบันวิปัสสนากัมมัฏฐาน


ชื่อรายงานวิจัย: ศึกษาปรากฏการณ์วิธีการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ในปัจจุบันวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ผู้วิจัย: พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี นางสาวนงเยาว์ หนูไชยะ ณ กาฬสินธุ์ นางสาวพรรณราย ชูเลิศ
ส่วนงาน: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: ๒๕๔๘
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “ศึกษาปรากฏการณ์วิธีการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ในปัจจุบัน” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักการและวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ เพื่อศึกษาถึงวิธีการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อศึกษากระบวนการสร้างวิปัสสนาจารย์ตามหลักสติปัฏฐานสี่

ผลจากการวิจัยพบว่า หลักการและวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติ ปัฏฐานสี่มีปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐,๑๒,๑๙ เป็นกัมมัฏฐาน มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ปรากฏขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงค้นพบ จะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าจตุตถฌานแล้วน้อมจิตไปสู่วิชชา ๓ คือ
(๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติได้
(๒) จุตูปปาตญาณ เห็นการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทิพพจักขุญาณ
(๓) เมื่อรู้เห็นอย่างนั้นแล้วทรงใช้วิชชาทั้ง ๒ เป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนา จึงได้บรรลุอาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป) คือ พิจารณาหาเหตุปัจจัยในการเวียนว่ายตายเกิด คือ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อันเป็นเหตุให้รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ จึงเรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนา ก็คือหลักการหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในรูปนาม หรือขันธ์ ๕ ว่าเป็นสภาพไม่เที่ยงแท้แน่นอน (อนิจจัง) เป็นทุกข์ถูกบีบคั้นทนได้ยากยิ่งนัก (ทุกขัง) เป็นสภาพที่ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา บังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจไม่ได้ (อนัตตา) ส่วนสมถกัมมัฏฐานหรือสมถภาวนา ได้แก่ หลักการหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบทางจิตใจ หรือการทำจิตใจให้เป็นสมาธิ มีความมั่นคงภายใน เป็นเพียงกัมมัฏฐานที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ดังเห็นได้จากการที่พระพุทธองค์เสด็จออกบรรพชาแล้ว ทรงศึกษาในภาคปฏิบัติ ด้วยการบำเพ็ญสมถภาวนากับท่าน อาฬารดาบส กาลามโคตรโดยได้บรรลุถึงรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๓ จากนั้นจึงทรงศึกษาปฏิบัติต่อในสำนักของอุทกดาบสรามบุตรผู้มีความรู้สูงกว่าจนได้บรรลุอรูปฌานที่ ๔ แล้วลาอาจารย์ทั้ง ๒ ไปแสวงหาธรรมที่ออกจากสังวัฏฏทุกข์ด้วยพระองค์เอง โดยขั้นแรกได้ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างยิ่งยวด แต่ยังไม่สำเร็จ จึงปรับเปลี่ยนวิธีจากเดิมมาเป็นมัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) จนได้ตรัสรู้เป็นพระอรหัตตสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด จึงสรุปได้ว่า หลักการของวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติมีอยู่ ๓ ประการ คือ ๑. ความเพียร (อาตาปี) ๒. ปัญญา (สัมปชาโน) ๓. สติ (สติมา) มีวิธีปฏิบัติ ๒๑ วิธี ในฐานทั้ง ๔ คือ ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑๔ วิธี ได้แก่ อานาปาน ๑ วิธี, อิริยาบถ ๑ วิธี สัมปชัญญะ ๑ วิธี, ปฏิกูลมนสิการ ๑ วิธี, ธาตุมนสิการ ๑ วิธี และสีวถิกะ (การพิจารณาเห็นซากศพในป่าช้า) ๙ วิธี ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑ วิธี ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๑ วิธี และ ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๕ วิธี ได้แก่ วิธีกำหนดนิวรณ์ ๑ วิธี, วิธีกำหนดเบญจขันธ์ ๑ วิธี, วิธีกำหนดอายตนะ ๑ วิธี, วิธีกำหนดโพชฌงค์ ๑ วิธี และวิธีกำหนดอริยสัจ ๑ วิธี ดังนั้น จึงมีหลักการ ๓ วิธีการปฏิบัติ ๒๑

ส่วนวิธีการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คือ วิธีการสื่อหรือการถ่ายทอดประสบการณ์ของกระบวนการพัฒนาสติ คือการระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมจากฐานทั้ง ๔ จนมีพลังพอที่จะเอามาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การรับประทานอาหาร การคู้ การเหยียด การนุ่งห่มเสื้อผ้า การอาบน้ำ ตลอดจนการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ โดยทำเป็นรูปแบบหรือหลักสูตรในการวัดผล จึงทำให้การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นไปในการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพจิต สติสัมปชัญญะใช้ควบคุมอารมณ์ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันทีไม่ต้องรอ ทำให้ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสามารถอ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น ลดความเห็นแก่ตัว รู้จักการปล่อยวางและการให้อภัย มีความเมตตากรุณา และความเอื้ออาทรต่อกัน อันเป็นผลดีต่อตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติโดยส่วนรวม

และพบว่า กระบวนการสร้างวิปัสสนาจารย์ตามหลักสติปัฏฐานสี่มาจากแนวคิดเรื่องรูปแบบการปฏิบัติ จำเป็นจะต้องมีหลักสูตร อันนำเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม และจำเป็นต้องมีแบบฝึกหัดในการฝึกอบรมโดยใช้หลักการและวิธีการ ๓ คือ อาตาปี มีความเพียร สัมปชาโน มีปัญญาเท่าทัน สติมา มีความระลึกได้ระลึกรู้ ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิดเสมอ ด้วยวิธีการ ๒๑ หรือ ๖ ตามความเหมาะสมแก่กาลเวลา สถานที่ บุคคล สังคม ซึ่งอยู่ในฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น