วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศึกษาความคิดเห็นของพระนิสิตที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา


ชื่อรายงานการวิจัย: ศึกษาความคิดเห็นของพระนิสิตที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชา
ศาสนาและปรัชญา
ผู้วิจัย: พระมหาวรชัย ติสฺสเทโว พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ นายเฉลียว รอดเขียว
ส่วนงาน: คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย : สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การศึกษาความคิดเห็นของพระนิสิตที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา ฉบับนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการจัดการศึกษา เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของนิสิตที่มีต่อการจัดการเรียนการสอน และเพื่อประมวลปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนของภาควิชาศาสนาและปรัชญา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ จำนวน 277 รูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัยในครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม(Questionnaires) มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ ด้านอาจารย์ผู้สอน ด้านหลักสูตร ด้านระบบการจัดการศึกษา ด้านวิธีการสอน ด้านอาคารสถานที่ และด้านสื่อการเรียนการสอน ผู้วิจัยได้ดำเนินการแจกแบบสอบถามด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละของข้อมูลทั่วไป ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่า F-test ทั้งนี้โดยกำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ 0.05

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า นิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาศาสนาและสาขาวิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ส่วนกลาง) วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช และห้องเรียนจังหวัดเพชรบูรณ์ มีความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาของสาขาวิชาศาสนาและสาขาวิชาปรัชญาในด้านอาจารย์ผู้สอน ด้านหลักสูตร ด้านวิธีการสอน ด้านระบบการจัดการศึกษา และด้านอาคารสถานที่ โดยรวมอยู่ในระดับเห็นด้วย มีเพียงด้านสื่อการเรียนการสอน ที่นิสิตมีความไม่แน่ใจในการจัดการศึกษา เมื่อจำแนกความคิดเห็นของนิสิตไปตามสถานที่เรียนทั้ง 3 แห่งก็แสดงให้เห็นว่า นิสิตที่เรียนอยู่ในทุกหน่วยงานมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชาศาสนาและสาขาวิชาปรัชญาอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า นิสิตที่เรียนในสถานที่เรียนแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชาศาสนาและสาขาวิชาปรัชญาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01 ในด้านอาจารย์ผู้สอนและด้านระบบการจัดการศึกษา ส่วนด้านอื่น ๆ มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น