วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศึกษาสารัตถะตำนานพื้นบ้านล้านนาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจากเอกสารโบราณ

ชื่อรายงานการวิจัย: ศึกษาสารัตถะตำนานพื้นบ้านล้านนาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจากเอกสารโบราณ
ผู้วิจัย: นางไฉไลฤดี ยุวนะศิริ นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
ปีงบประมาณ: ๒๕๔๘
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสารัตถะและวิเคราะห์คุณค่าภูมิปัญญาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก โดยดำเนินการศึกษาและปริวรรตตำนานพื้นบ้านล้านนาจากคัมภีร์ใบลาน ผู้วิจัยได้คัดเลือกเอกสารใบลานตัวอักษรไทยวนเรื่อง “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ฉบับวัดกู่คำ ต.วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จำนวน ๑๒ ผูก โดยนำแนวคิดทางวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคม รวมทั้งการศึกษาทางคติชนวิทยา เป็นแนวทางในการศึกษา

จากผลการศึกษาพบว่า ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นตำนานที่กล่าวถึงการเผยแผ่เข้ามาของพระพุทธศาสนาในล้านนา โดยกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า เพื่อทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระเกศาธาตุ พระพุทธบาท และทรงตรัสพยากรณ์ชื่อบ้านนามเมืองรวมถึงอนาคตของพระพุทธศาสนาในท้องถิ่น มูลเหตุของการเขียนตำนานพระเจ้าเลียบโลกเป็นผลมาจากเหตุการณ์ วิวาทะเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ในล้านนา และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางศาสนาและสถาบันทางการเมือง โดยการกล่าวถึงภูมิสังคมทางศาสนา กล่าวคือการผนวกขอบเขตดินแดนทางการเมืองและศาสนาเข้าด้วยกัน ทำให้มีการเขียนตำนานและวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนามากมาย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยได้มีการกล่าวถึง บรรทัดฐานทางสังคมและการขัดเกลาทางสังคม รวมทั้งการสอดแทรกคติชนวิทยาเกี่ยวกับการยอบรับและความขัดแย้งของความเชื่อดั้งเดิมกับพระพุทธศาสนา และจากการศึกษาตำนานพระเจ้าเลียบโลกทำให้พบว่า องค์ประกอบ ๓ ประการ กล่าวคือ ประการแรก พระธาตุเจดีย์และพระพุทธบาทที่เป็นถาวรวัตถุ เป็นศูนย์กลางของความเชื่อศรัทธา ประการที่สอง ตำนานเป็นเครื่องขัดเกลาศรัทธา และประการที่สาม ธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพระธาตุเป็นเครื่องรักษาศรัทธา ท้ายที่สุดคือการสร้างสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของคนในท้องถิ่น ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการเผยแผ่ศาสนา การสร้างประชาคม และการพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น