วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยจิตสังคมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


ชื่อรายงานการวิจัย : การศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยจิตสังคมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ผู้วิจัย: พระมหาประยูร ธีรวํโส
ดร. โกนิฎฐ์ ศรีทอง
นายลือชัย วงษ์ทอง
ส่วนงาน: ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ

1) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ปัจจัยจิตสังคมกับผล สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2) เพื่อศึกษาปัจจัยทางจิตลักษณะตามสถานการณ์ ได้แก่ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เจตคติต่อการเรียนและสถาบัน และการปรับตัวในการทำงาน มีความสัมพันธ์กับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของ นิสิตในมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ปัจจัยทางชีวสังคมและภูมิหลังกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิต
4) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอำนาจทำนายของตัวแปรกลุ่มจิตลักษณะ กลุ่มปัจจัยทางสังคม และกลุ่มจิตลักษณะตามสถานการณ์ ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิต

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2548 จำนวน 200 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย จากนิสิตคณะพุทธศาสตร์ จำนวน 40 คน คณะ ครุศาสตร์ จำนวน 40 คน คณะมนุษยศาสตร์ จำนวน 55 คน และคณะสังคมศาสตร์ จำนวน 65 คน ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว แบบสอบถามวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แบบสอบถามความเชื่ออำนาจในตน แบบสอบถามลักษณะมุ่งอนาคต แบบสอบถามสุขภาพจิต แบบสอบถามสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย แบบสอบถาม ความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตและอาจารย์ แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างนิสิตกับเพื่อน แบบสอบถามปัจจัยทางจิตลักษณะตามสถานการณ์ และแบบสอบถามผลสัมฤทธิ์การเรียน ของนิสิต (เก่ง ดี มีความสุข)

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตาม โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson – Product Moment Correlation Coefficient) และทดสอบนัยสำคัญด้วยค่าที (t-test) และการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการด้านดี ด้านเก่ง และความสุข ของนิสิตจากปัจจัยทางจิตสังคม ใช้วิธีการวิเคราะห์หาค่าน้ำหนักความสำคัญ (Beta-Weight) ของตัวแปร โดยวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณด้วยการนำตัวแปรเข้าสมการด้วยวิธี Enter และ Block wise ทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าน้ำหนักความสำคัญโดยการทดสอบค่าเอฟ (F-test)

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. ปัจจัยจิตลักษณะ ได้แก่ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความเชื่ออำนาจในตน ลักษณะมุ่งอนาคตสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย สัมพันธภาพระหว่างนิสิตกับอาจารย์ และสัมพันธภาพระหว่างนิสิตกับเพื่อน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมของนิสิต ด้านดี ด้านเก่ง และด้านมีความสุข อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 และ.01 ยกเว้นระดับสุขภาพจิต ไม่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวม และแยกรายด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

2. ปัจจัยทางจิตลักษณะตามสถานการณ์ ได้แก่ การปรับตัวในการทำงาน มีอิทธิพลมากที่สุดในการพยากรณ์ผลการเรียนรวม และผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านเก่ง และด้านมีความสุข และปัจจัยด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นตัวพยากรณ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด ในการพยากรณ์ผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านดี

3. ปัจจัยทางจิตลักษณะ ปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางชีวสังคมและภูมิหลัง ปัจจัยจิตลักษณะตามสถานการณ์ สามารถร่วมกันพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวม ด้านเก่ง ด้านดี และด้านมีความสุข



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น