วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การศึกษาเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา


ชื่อรายงานการวิจัย: การศึกษาเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ผู้วิจัย: ประมูล สารพันธ์ และคณะ
ส่วนงาน: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การศึกษาเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ เพื่อศึกษาเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมในด้านความเมตตา-กรุณา ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีระเบียบวินัย ความอดทน ความสามัคคี ความสุภาพเรียบร้อย ความเคารพในสิทธิของผู้อื่น การประหยัด การรักษาสิ่งแวดล้อม ของนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

กลุ่มตัวอย่างของการศึกษาวิจัยนี้ประกอบด้วยนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จำนวน 226 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 3 จำนวน 353 คน ซึ่งทั้งสองกลุ่มตัวอย่างเลือกมาโดยการสุ่มแบบแบ่งเป็นกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมที่ผู้วิจัยสร้างเอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัย พบว่า โดยอาศัยทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์กเป็นพื้นฐาน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในขั้นที่ 4 รองลงมาอยู่ในขั้นที่ 5 ว่าโดยค่าเฉลี่ยรวมการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมทุกด้านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในขั้นที่ 4 คือ ขั้นที่ทำความดีเพราะยึดหลักทำตามหน้าที่ทางสังคม

ในด้านเจตคติเชิงจริยธรรม พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่มีเจตคติเชิงจริยธรรมอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมาอยู่ในระดับดี ว่าโดยค่าเฉลี่ยรวมนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 มีเจตคติเชิงจริยธรรมในระดับปานกลาง ( = 3.48)

สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า โดยค่าเฉลี่ยรวมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นที่ 5 คือ ขั้นทำความดี โดยยึดหลักการทำตามของคำมั่นสัญญาและข้อตกลงของสังคม ในด้านเจตคติเชิงจริยธรรมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ส่วนใหญ่มีเจตคติเชิงจริยธรรมในระดับดี รองลงมา มีเจตคติเชิงจริยธรรมในระดับปานกลาง และระดับดีมาก ตามลำดับ โดยค่าเฉลี่ยรวม มีเจตคติเชิงจริยธรรมในระดับดี ( = 3.65)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น