วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การประเมินการใช้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมชั้นตรีในโรงเรียน พระปริยัติธรรมแผนกธรรม จังหวัดแพร่


ชื่อรายงานการวิจัย: การประเมินการใช้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมชั้นตรีในโรงเรียน พระปริยัติธรรมแผนกธรรม จังหวัดแพร่
ผู้วิจัย: นายเสริมศิลป์ จูไธสง พระมหาสิมรัตน์ สิริธมฺโม ผศ.พูนทรัพย์ เกตุวีระพงศ์ นางชลธิชา จิรภัคพงศ์
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

ในการวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อประเมินการใช้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมชั้นตรีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม จังหวัดแพร่ ใน 5 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิตของหลักสูตร และด้านผลกระทบ และ เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร ผู้บริหารหลักสูตร เจ้าสำนักศาสนศึกษา ครูสอน และนักเรียน เกี่ยวกับหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมชั้นตรี ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม จังหวัดแพร่โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร จำนวน 9 รูป/คน ผู้บริหารหลักสูตร จำนวน 9 รูป เจ้าสำนักศาสนศึกษา จำนวน 21 รูป ครูผู้สอน จำนวน 72 รูป นักเรียน จำนวน 228 รูป รวม 339 รูป/คน การเก็บรวมรวบข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) หาค่าเฉลี่ยเลขคณิต (Arithmetic Means) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Diviation) และค่าเอฟ (F–test) ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา นำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่ แล้วนำข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว

ผลการวิจัย พบว่า

ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมินการใช้หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมชั้นตรีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม จังหวัดแพร่ ในภาพรวมทั้ง 5 ด้าน มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิตของหลักสูตร และด้านผลกระทบ มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกด้าน

สำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบระดับความคิดเห็น ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร ผู้บริหารหลักสูตร เจ้าสำนักศาสนศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน พบว่า โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านผลผลิตของหลักสูตร และด้านผลกระทบ มีระดับความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน ส่วนด้านกระบวนการ มีระดับความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น