วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทบาทของพุทธศาสตรบัณฑิตในจังหวัดพิษณุโลก

ชื่อรายงานการวิจัย: บทบาทของพุทธศาสตรบัณฑิตในจังหวัดพิษณุโลก
ผู้วิจัย: พระครูสิริรัตนานุวัตร (ทวี ฐานวโร) พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ พ.อ. เกื้อ ชัยภูมิ
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช พิษณุโลก
ปีงบประมาณ: ๒๕๔๘
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “บทบาทพุทธศาสตรบัณฑิตในจังหวัดพิษณุโลก มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาบทบาท รวมถึงสถานภาพของพุทธศาสตรบัณฑิตในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อทำสถิติเป็นศูนย์กลางข้อมูลการศึกษาของวิทยาลัยสงฆ์ตลอดทั้งบริการแก่สาธารณชนทั่วไป

พุทธศาสตรบัณฑิตในจังหวัดพิษณุโลกที่สำรวจได้ จำนวน ๑๐๓ รูป/ท่าน ในจำนวนนี้ได้แสดงบทบาทต่อสังคมในด้านต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และคฤหัสถ์ ในส่วนที่มีสถานภาพเป็นพระสงฆ์นั้น มีการดำรงสมณศักดิ์สูงสุดที่พระครูสัญญาบัตรชั้นเอกพิเศษ มีตำแหน่งคณะสงฆ์สูงสุดเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ จากนั้นเป็นเจ้าอาวาส เลขานุการเจ้าคณะต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่ด้านการศึกษาโดยการเป็นครูสอนในโรงเรียนปริยัติธรรม-สามัญศึกษา โรงเรียนสงเคราะห์ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และเป็นนักเทศน์ วิทยากรบรรยายธรรมต่าง ๆ จำนวน ๖๖ รูป คิดเป็นร้อยละ ๖๔.๐๗ ในส่วนที่มีสถานภาพเป็นคฤหัสถ์นั้น มีการประกอบอาชีพต่าง ๆ คือเป็นข้าราชการ มีอนุศาสนาจารย์เรือนจำ อนุศาสนาจารย์กองทัพบก เป็นครูประชาบาล นอกจากนี้เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว จำนวน ๓๗ ท่าน คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๑๐

ในการนี้ ทำให้ทราบว่าพุทธศาสตรบัณฑิตมีสถานภาพอยู่ ๒ อย่างคือ สถานภาพที่เป็นพระสงฆ์ และเป็นคฤหัสถ์ มีบทบาทต่อสังคมหลาย ๆ ด้าน สมควรจะได้ทำสถิติไว้เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาสำหรับวิทยาลัยสงฆ์และนักการศึกษาทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ให้มีการติดตามวัดผลประเมินต่อเนื่องกับพุทธศาสตรบัณฑิตอีกด้วย

จากการรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะจากแบบสอบถามในตอนที่ ๔ แล้ว ทำให้ทราบว่า พุทธศาสตรบัณฑิตเหล่านี้ไม่มีความคล่องตัวในการจัดการศึกษาและมีส่วนรวมในบทบาทต่าง ๆ อันเนื่องมาจากงบประมาณให้ไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย และอำนาจในการบริหารมีไม่เพียงพอที่จะเปิดงานทำตามอุดมการณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น