วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความคิดเห็นของนิสิตต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


ชื่อรายงานการวิจัย: ความคิดเห็นของนิสิตต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ผู้วิจัย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิลรัตน์ กลิ่นจันทร์ พระมหาประยูร ธีรวํโส (สุยะใจ)
พระมหาสุริยา วรเมธี (นักปราชญ์)
ส่วนงาน: คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

งานวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความคิดเห็น และเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของนิสิต ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ และเพื่อประมวลปัญหา ข้อเสนอแนะ ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ในมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งหก ด้าน คือ หลักสูตร สื่อการเรียนการสอน ผู้เรียน ผู้สอน การจัดการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล จำแนกตามตัวแปร คือ สถานภาพ อายุ วุฒิการศึกษาเดิม ประสบการณ์เรียนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนเดิม และระดับคะแนนผลสัมฤทธิ์การศึกษาและเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนิสิตระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย ส่วนกลาง ชั้นปีที่ 3 จำนวน 200 รูป ในปีการศึกษา 2548 ทั้ง 4 คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามมาตรส่วนประมาณค่าอย่างง่ายและแบบสอบถามปลายเปิดเชิงพรรณนาเชิงความถี่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่างโดยใช้ค่าที (t-test) และใช้การวิเคราะห์การแปรปรวนแบบทางเดียว (one-way analysis of variance) ในกรณีที่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ใช้การทดสอบโดยวิธีการของ Tukey–Kramer Test

การจัดทำข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิต เพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ผลการ วิจัยสรุปดังนี้

1. นิสิตส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุ ร้อยละ 86.00 อายุระหว่าง 15 – 25 ปี ร้อยละ 58 วุฒิการศึกษาเดิมก่อนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย คือ พระปริยัติธรรมสามัญ (ม.6) ร้อยละ 40 ประสบการณ์ภาษาอังกฤษจากโรงเรียนเดิมเป็นโรงเรียนรัฐบาล ร้อยละ 71 ระดับ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 2.00 ร้อยละ 48 และส่วนมากเป็นนิสิตสังกัดคณะสังคมศาสตร์ร้อยละ 34

2. นิสิตมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั้ง 6 ด้าน โดยรวมและรายด้านมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง

3. นิสิตมีสถานภาพ และมีอายุต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนโดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

4. นิสิตมีวุฒิการศึกษาเดิมก่อนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยและ นิสิตมีระดับคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ 0.05

5. นิสิตสังกัดคณะต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โดยรวมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เมื่อพิจารณารายด้านพบว่าด้านการเรียนการสอน นิสิตสังกัดคณะพุทธศาสตร์และครุศาสตร์มีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05


ข้อเสนอแนะ

1. ด้านหลักสูตร ควรปรับปรุงเนื้อหาและโครงสร้างหลักสูตรภาษาอังกฤษพื้นฐาน เพื่อให้สอดคล้องต่อการนำไปใช้เพื่อศึกษาต่อระดับสูง

2. ด้านสื่อการเรียนการสอน จำนวนสื่ออุปกรณ์มีจำนวนจำกัด เช่น สื่อการศึกษาคอมพิวเตอร์ โปรเจกเตอร์ มีจำนวนจำกัด ควรจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์สื่อการสอนให้เพียงพอต่อความต้องการ

3. ด้านผู้สอน ผู้สอนควรเอาใจใส่ติดตามผลการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานของผู้เรียนให้มากขึ้น

4. ด้านผู้เรียน ผู้เรียนมีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ดีพอและแตกต่างกัน ควรปรับพื้นฐานผู้เรียนให้อยู่ในระดับเดียวกัน

5. ด้านการเรียนการสอน ควรจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อให้นิสิตได้ประสบการณ์จริงมากที่สุด

6. ด้านการวัดผลประเมินผล ควรประเมินจากการสะสมงาน และปฏิบัติจริงของผู้เรียนในทักษะทั้งสี่ด้านเพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น