ชื่อรายงานการวิจัย : สื่อสารมวลชนกับความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา
ผู้วิจัย : ศาสตราจารย์ ดร. จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์
ส่วนงาน : สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: ๒๕๔๘
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการวิจัยชิ้นนี้ เพื่อศึกษาสถานการณ์สังคมไทยในปัจจุบัน ภายใต้กระแสสื่อสารมวลชนเสรี และศึกษาเหตุผลในการเสนอข่าวสารเกี่ยวกับพระสงฆ์ของสื่อสารมวลชนและความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การศึกษาจากเอกสาร และการศึกษาจากการสัมภาษณ์กลุ่มพระสงฆ์ระดับพระสังฆาธิการในวัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 15 รูป และสื่อสารมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ จำนวน 10 คน
ผลของการศึกษา สรุปได้ดังนี้ สื่อสารมวลชนเป็นองค์กรธุรกิจมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารต่างๆ อย่างเต็มที่ ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย และภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สื่อสารมวลชนทุกประเภทมีบทบาทและอิทธิพลสูงมากต่อบุคคลและต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลทางด้านการเผยแพร่ค่านิยมทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แม้จะมีการกำหนดจรรยาบรรณของสื่อ แต่ก็มักจะถูกมองข้ามเพราะมีการแข่งขันกันสูง เพื่อผลกำไรและความอยู่รอดของตน การเสนอข่าวสารเกี่ยวกับพระสงฆ์จึงขาดความรอบคอบและไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบต่อสถาบันพระพุทธศาสนา และสังคมไทยปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเป็นสังคมเปิดและสังคมเสรี จึงรับวัฒนธรรมใหม่เข้ามาอย่างไม่มีขอบเขต ได้มีผลกระทบเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดการไร้เสถียรภาพทางด้านวัฒนธรรมและความเสื่อมศีลธรรมอันมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนานั้นได้ให้ความสำคัญแต่สื่อบุคคล สื่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสื่อศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาประกอบด้วย สื่อพื้นฐานทั้งสามประเภทนี้เป็นหลัก ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเข้มแข็งมั่นคง ได้แก่ บทบาทของรัฐ คณะสงฆ์ ประชาชน สื่อสารมวลชน ภาคธุรกิจเอกชน และนักวิชาการ ซึ่งจะต้องร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาสถาบันพุทธศาสนาในรูปของพหุภาคี สำหรับเหตุผลในการนำเสนอข่าวสารของสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงลบของพระภิกษุสงฆ์ ประกอบด้วย เหตุผลเชิงธุรกิจ เชิงเตือนสติ เชิงสะท้อนปัญหาสังคม เชิงความรับผิดชอบ เชิงวิชาการ และเชิงทำลาย
แม้จะเป็นข้อเท็จจริงว่า เหตุผลในการเสนอข่าวสารเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ของสื่อสารมวลชนจะเป็นเหตุผลเชิงธุรกิจเป็นหลักก็ตาม แต่ก็มีข้อเสนอแนะว่า การที่จะให้สื่อมีบทบาทในการสร้างความมั่นคงแก่พระพุทธศาสนา สังคมและรัฐจะต้องสนับสนุนสื่อประเภทสร้างสรรค์เพื่อให้อยู่รอด และคณะสงฆ์ควรมีสำนักงานแถลงข่าวเกี่ยวกับบทบาทของคณะสงฆ์ในเชิงรุกเป็นประจำ และควรจัดตั้งองค์กรด้านการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับพระศาสนาให้มีประสิทธิภาพ และน่าสนใจเพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนให้มากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น