วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ชื่อรายงานการวิจัย: การพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ผู้วิจัย: นางอนุสรณ์ กันทรทิพย์ และคณะ
ส่วนงาน: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติเชิงจริยธรรมของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi-experimental research) กลุ่มตัวอย่าง สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนวัดปทุมวนาราม สำนักงานเขตประทุมวัน กรุงเทพมหานคร จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มทดลองและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 จำนวน 25 คน เป็นกลุ่มควบคุม

สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 โรงเรียนสตรีวัดระฆัง จำนวน 40 คน เป็นกลุ่มควบคุมและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 จำนวน 32 คน เป็นกลุ่มทดลอง

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรมและเจตคติธรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test

ผลการวิจัยมีดังนี้

(1) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มควบคุมมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในขั้นที่ 4 ทั้งก่อนและหลังการสอน โดยหลังสอนมีค่าเฉลี่ยเท่า 4.43 และก่อนสอนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.23 ค่าเฉลี่ยหลังสอนแตกต่างจากค่าเฉลี่ยก่อนสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01

(2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มทดลอง พบว่า ก่อนสอนนักเรียนมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นที่ 4 ( =4.41) ในขณะที่หลังสอนนักเรียนมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นที่ 5 ( =4.63) ค่าเฉลี่ยก่อนและหลังสอนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01

(3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มควบคุมหลังสอนมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในขั้นที่ 4 ( =4.43) ในขณะที่กลุ่มทดลองหลังสอนมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในขั้นที่ 5 ( =4.63) ค่าเฉลี่ยหลังสอนของนักเรียนทั้งสองกลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

(4) ในด้านมีเจตคติเชิงจริยธรรม พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มควบคุมก่อนสอนมีเจตคติเชิงจริยธรรมอยู่ในระดับปานกลาง ( =3.24) ในขณะที่หลังสอนอยู่ในระดับดี ( = 3.51) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มทดลองก็เช่นเดียวกัน ก่อนสอนมีเจตคติเชิงจริยธรรมอยู่ในระดับปานกลาง ( =3.22) ในขณะที่หลังสอนมีเจตคติเชิงอยู่ในระดับดี ( =3.60)

(5) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนกลุ่มควบคุมมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นที่ 5 ทั้งก่อนและหลังสอน โดยก่อนสอนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.86 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยหลังสอนที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.81 ค่าเฉลี่ยก่อนและหลังสอน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

(6) ในส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มทดลอง พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนมีการใช้เหตุผลเชิง
จริยธรรมในขั้นที่ 5 ทั้งก่อนและหลังการสอน โดยก่อนสอนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.87 และหลังสอนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.88 ค่าเฉลี่ยก่อนสอนและหลังสอน ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

(7) โดยภาพรวมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองหลังการสอนมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นที่ 5 ทั้งสองกลุ่ม โดยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.88 ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.81 ค่าเฉลี่ยของการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองหลังสอนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01

(8) โดยภาพรวมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีเจตคติเชิงจริยธรรมในระดับดี ทั้งก่อนและหลังการสอน และค่าเฉลี่ยหลังการสอนสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนสอนทั้งสองกลุ่ม

(9) โดยภาพรวมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองหลังสอนมีเจตคติเชิงจริยธรรมในระดับดี ทั้งสองกลุ่ม กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ย 3.84 ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ย 3.75 ค่าเฉลี่ยกลุ่มทดลองหลังสองสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มควบคุมหลังสอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น