วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชื่อรายงานการวิจัย: ความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้วิจัย: นายบุญหนา จิมานัง, นายวิทยา ทองดี และรศ. ปกรณ์ คุณารักษ์
ส่วนงาน: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
ปีงบประมาณ: 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากประชากรจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหัวหน้าหน่วยงานผู้รับบัณฑิตเข้าปฏิบัติศาสนกิจ, กลุ่ม พระสังฆาธิการตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในฐานะฝ่ายปกครองและในการอุปถัมภ์ กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกลุ่มบัณฑิตปฏิบัติศาสนกิจรุ่นที่ 50 ซึ่งผลการศึกษาจะมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นความสำคัญ ของประสิทธิภาพพุทธศาสตรบัณฑิตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่สังคม และพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามที่มหาวิทยาลัยพึงประสงค์

วัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศึกษาปัจจัยที่มีความ สัมพันธ์ต่อความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจ ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผลการศึกษาพบว่า ประชากรทุกกลุ่ม มีความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาการปฏิบัติศาสนกิจเป็นรายด้านพบว่า ทุกกลุ่มพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจด้านการสนองงานในกิจการของคณะสงฆ์มากที่สุด รองลงมาคือด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และด้านการสงเคราะห์ประชาชน

ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ กับความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิต ด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน พบว่า คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ และพฤติกรรมการปฏิบัติศาสนกิจ จำนวนความต้องการบัณฑิตช่วยงานในปีต่อไป จำนวนปีที่บัณฑิตบวชเป็นสามเณร, จำนวนพรรษาที่บวชเป็นพระ และปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจ มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตอย่างมีนัยสัมพันธ์ทางสถิติ ส่วนอายุของบัณฑิตปัจจุบัน, รายได้ต่อเดือนขณะปฏิบัติศาสนกิจ และความ พึงพอใจการจัดการศึกษาของวิทยาเขต ไม่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจ ของบัณฑิต

เมื่อทดสอบหาปัจจัยที่มีอิทธิพลด้วยสถิติถดถอยพหุคูณพบว่า พฤติกรรมการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิต คุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ เจ้าคณะอำเภอที่สังกัดจังหวัดสุรินทร์ เจ้าคณะอำเภอที่สังกัดจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหารตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ร่วมกันแสดงอิทธิพลต่อความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนกิจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตัวแปรอิสระทั้งหมดที่นำมาศึกษา สามารถร่วมกันอธิบายความผันแปรของความพึงพอใจการปฏิบัติศาสนากิจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำแนกตามกลุ่มประชากรได้ดังนี้

กลุ่มพระสังฆาธิการได้ร้อยละ 59.30, กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ร้อยละ 49.50 กลุ่มหัวหน้าหน่วยงานได้ร้อยละ 39.60 และกลุ่มบัณฑิตปฏิบัติศาสนกิจได้ร้อยละ 18.20 ตามลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น