วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การศึกษาความพึงพอใจของอาจารย์และนิสิตต่อการให้บริการของ ส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา

ชื่อรายงานการวิจัย : การศึกษาความพึงพอใจของอาจารย์และนิสิตต่อการให้บริการของ
ส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขต
นครราชสีมา
ผู้วิจัย : พระมหาไพโรจน์ กนโก และคณะ
หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา
ปีงบประมาณ : 2548
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของอาจารย์และนิสิตต่อการให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของอาจารย์กับนิสิตต่อการให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา และเพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของนิสิตต่อการให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา แยกตามคณะที่ศึกษาและระดับชั้นปี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ อาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา จำนวน 256 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า ชนิด 5 ระดับ จำนวน 2 ฉบับ แยกตามกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินการด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทอดสอบค่าที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. อาจารย์มีความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาแยกตามส่วนงาน พบว่า อยู่ในระดับปานกลางทุกส่วนงาน โดยส่วนงานที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา รองลงมา ได้แก่ สำนักวิชาการ และสำนักงานวิทยาเขตนครราชสีมา ตามลำดับ ด้านวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา อาจารย์มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการเปิดสอน หลักสูตรระดับประกาศนียบัตร รองลงมา ได้แก่ การจัดชั่วโมงสอนแก่อาจารย์ ด้านสำนักวิชาการอาจารย์มีความพึงพอใจต่อความเป็นระเบียบและความเหมาะสมของห้องสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้า รองลงมาได้แก่ การจัดหมวดหมู่หนังสือและการอำนวยความสะดวกในการสืบค้น และด้านสำนักงานวิทยาเขตนครราชสีมา อาจารย์มีความพึงพอใจต่อการอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายในและภายนอก รองลงมา ได้แก่ การให้บริการในการใช้ห้องประชุมของวิทยาเขต

2. การให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา อาจารย์และนิสิตมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงาน โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณาแยกตามส่วนงานพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 2 ส่วนงาน ได้แก่ สำนักงานวิทยาเขตนครราชสีมาและสำนักวิชาการ โดยนิสิตมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงานสูงกว่าอาจารย์ สำหรับวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา ไม่พบว่ามีความแตกต่างกัน

3. นิสิตมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา โดยรวมอยู่ระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาแยกตามส่วนงาน พบว่า อยู่ในระดับปานกลางทุกส่วนงาน โดยส่วนงานที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ วิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา รองลงมา ได้แก่ สำนักวิชาการและสำนักงานวิทยาเขตนครราชสีมา ตามลำดับด้านวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา นิสิตมีความพึงพอใจต่อการกำหนดวันและระยะเวลาในการสอบ รองลงมา ได้แก่ การจัดตารางสอบ การจัดห้องสอบและกรรมการผู้ควบคุมห้องสอบ ด้านสำนักวิชาการ นิสิตมีความพึงพอใจต่อความเป็นระเบียบและความเหมาะสมของห้องสมุดสำหรับศึกษาค้นคว้า รองลงมา ได้แก่ การจัดหมวดหมู่ของหนังสือและการอำนวยความสะดวกในการสืบค้น และด้านสำนักงานวิทยาเขตนครราชสีมา นิสิตมีความพึงพอใจต่อการให้บริการในการใช้ห้องประชุมของวิทยาเขต รองลงมา ได้แก่ การเผยแพร่ข่าวสารของวิทยาเขตแก่นิสิต ทั้งทางเอกสารสิ่งพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง

4. การให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา นิสิตที่เรียนชั้นปีที่ 1, 2, 3 และ 4 มีความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 1 ส่วนงาน ได้แก่ สำนักวิชาการ เมื่อเปรียบเทียบรายคู่ ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันของความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงาน ระหว่างนิสิตชั้นปีที่ 1, 2, 3 และ 4 สำหรับอีก 2 ส่วนงาน ไม่พบว่ามีความแตกต่างกัน

5. การให้บริการของส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา นิสิตที่สังกัดคณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มีความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงาน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำนวน 2 ส่วนงาน ได้แก่ สำนักวิชาการและวิทยาลัยสงฆ์นครราชสีมา เมื่อเปรียบเทียบรายคู่ ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันของความพึงพอใจต่อการให้บริการของส่วนงาน ระหว่างนิสิตคณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ แต่ละคู่ ส่วนสำนักงานวิทยาเขตนครราชสีมา ไม่พบว่ามีความแตกต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น