วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การวิเคราะห์คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท : ความตาย กับ มรณัสสติ


ชื่อรายงานการวิจัย : การวิเคราะห์คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท : ความตาย กับ มรณัสสติ
ผู้วิจัย : นายสุชญา ศิริธัญภร และคณะ
ส่วนงาน : ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์ กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีงบประมาณ : ๒๕๔๘
ทุนอุดหนุนการวิจัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทคัดย่อ

เรื่องการศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท : ความตาย กับ มรณัสสติ นั้น กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาหลักคำสอนเรื่องความตายที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการใช้ความตายเป็นอารมณ์ และเพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติเรื่องความตายสำหรับประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ กัมมัฏฐาน จะเสนอแนวทางแห่งความตายและการระลึกถึงความตายที่ถูกต้อง จะช่วยคลายความสะดุ้งกลัวต่อความตายของคนทั้งหลาย และช่วยบรรเทาความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อคนเราจะตาย ก็ตายไปอย่างมีสติสงบ ไม่หลงตาย

ผลการวิจัย มีดังนี้

๑. หลักคำสอนเรื่องความตายที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ปกรณ์วิเสส ตลอดถึงข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รู้กันโดยมากว่า เรื่องความตายเป็นสัจธรรมแห่งชีวิต เกิดมาแล้วทุกคนต้องตาย ไม่มีใครจะหลีกหนีไปได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ แต่ความตายก็ก่อให้เกิดความสะดุ้งกลัวแก่ทุกคน ทุกคนพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะไม่ให้ความตายมาถึง เพราะกลัวต่อความตาย ความจริง ความตายเป็นสิ่งไม่น่ากลัว แต่ภาวะก่อนตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า เพราะภาวะที่จะตายนี้ถ้าจิตผ่องใสจะไป สู่สุคติ ถ้าจิตเศร้าหมองจะไปสู่ทุคติ ดังนั้นคนเราควรเรียนรู้เกี่ยวกับความตาย เช่น เรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์ก่อนตายที่เรียกว่าอารมณ์ วิถีจิตก่อนตาย วิธีแก้ไข ตลอดถึงคำสอนเกี่ยวกับความตาย อย่างถูกต้อง ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ก็จะทำให้เรานั้นปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เวลาตายก็จะตาย อย่างสงบ จัดเป็นการตายที่ดี แต่เมื่อว่าตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท การไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป คือบรรลุพระนิพพาน จัดว่าเป็นการตายที่ดีที่สุด

๒. การใช้ความตายเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา รู้กันโดยมากว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสมรณัสสติไว้หลายแห่งเป็นต้นว่า ผู้จะเจริญมรณัสสติควรพิจารณาดังนี้ว่า เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะเคี้ยวกินข้าว ๑ คำ หรือเราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วการหายใจเข้า-ออกเท่านั้น และผู้เจริญมรณัสสติได้ดี ควรพิจารณาถึงความตายของตนเป็นหลักทั้งกลางวันและกลางคืน และควรพิจารณาเห็นชีวิตว่ามีอันตรายรอบด้านทั้งภายในและภายนอกที่จะทำให้เสียชีวิตไป และควรมีธรรม ๓ ประการคือ สติ สังเวคะ และญาณ เมื่อปฏิบัติตามได้เช่นนี้แล้ว จะสามารถคลายความทุกข์พ้นจากความทุกข์ได้ เมื่อเห็นคนอื่นผู้เป็นที่รักตายไปก็สามารถบรรเทาความเศร้าโศกที่จะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

๓. วิธีปฏิบัติต่อความตายสำหรับประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน รู้กันโดยมากว่า คำสอนของพระพุทธศาสนา หากนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน เช่น ใช้เทคโนโลยีถ่ายทอดหลักคำสอนเรื่องความตาย กับ มรณัสสติ ลงเป็นม้วนเทปบ้าง แผ่นซีดีบ้าง เป็นภาพนิ่งบ้าง เป็นภาพยนตร์บ้างก็อาจจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีความเศร้าโศกให้คลายความเศร้าโศกลงได้ หรือผู้ที่มีความทุกข์ก็ให้คลายความทุกข์ได้นอกจากนี้ ควรช่วยสร้างมุมมองเรื่องความตายใหม่ เป็นมุมมองการตายที่ดีว่าคนเราสามารถทำได้ โดยเน้นการเผยแผ่หลักคำสอนเรื่องกรรมหรือภพภูมิว่ามีความสัมพันธ์กับคนเราอย่างแยกไม่ออก กรรมดีนำไปสู่สุคติ กรรมชั่วนำไปสู่ทุคติ สัมพันธ์สอดคล้องกับการตายของคนเราอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ไปสัมภาษณ์เรื่องความตายกับมรณัสสติจากบุคคลต่างๆ ผลการสัมภาษณ์ มีผลเป็นที่น่าพอใจส่วนหนึ่ง ยังต้องแก้ไขส่วนหนึ่ง และได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของคนเรา ก็คือคุณความดีที่กระทำไว้ และสำหรับชาวพุทธ สิ่งที่เป็นพึ่งที่ดีที่สุดก็คือพระรัตนตรัย เมื่อเวลาจะตายเป็นที่พึ่งได้ ช่วยให้มีการตายที่ดี ตายอย่างสงบสุขได้ หากทุกๆฝ่าย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ช่วยกันสอนเรื่องความตายและการระลึกถึงความตายอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้มวลมนุษยชาติผู้มีความสะดุ้งกลัวต่อความตาย งดเว้นการเบียดเบียนกันและกัน และมีความปรารถนาดีต่อกัน ยามตายจะได้ตายอย่างสงบสุข


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น